นักวิชาการชี้ศึกสงครามการค้า”จีน-สหรัฐ” ได้ไม่คุ้มเสีย-กระทบฐานเสียงทรัมป์

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561  ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “จีน VS สหรัฐฯ 2018” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์ และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเสวนา

รศ.ดร.สมภพ กล่าวตอนหนึ่งถึงการเจรจาเรื่องการค้าและเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า หากประเมินจากท่าที ทวีตของประธานาธิบดีทรัมป์ หรือข้อความที่สื่อสารออกมาจากทำเนียบขาว ปรากฎว่า ผลการเจรจาไม่สู้ดีนัก

โดยสหรัฐระบุว่าจีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐ  370,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ขณะที่ตัวเลขฝั่งจีนระบุว่าอยู่ที่ 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งก็แล้วแต่ว่าตัวเลขจะมาจากฝั่งใคร แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐต้องการให้จีนลดตัวเลขการเกินดุลการค้ากับสหรัฐลง 200,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2020  โดยกลางปีหน้านี้ ต้องลดมาให้ได้ 100,000 ล้านดอลลาร์ก่อน นี่คือตุ๊กตา เป็นตัวเลขที่เป็นรูปธรรมที่ได้กำหนดเอาไว้ในที่ประชุม นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ เช่น ให้ทางจีนไปกำหนดชนิดของสินค้าออกมาว่าสินค้าอะไรที่มีการปกป้อง เพื่อสหรัฐจะได้รู้ว่ามีสินค้าใดที่ส่งเข้ามาขายได้ โดยข้อมูลเหล่านี้ต้องส่งให้ฝ่ายทรัมป์พิจารณา เป็นต้น

รศ.ดร.สมภพ กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่น่าจับตาคือ สหรัฐอเมริกาจะมีมาตรการอะไรออกมาจัดการจีน เพราะก่อนหน้านี้จีนยังพอมีท่าทีประนีประนอม แต่ปัจจุบันท่าทีของจีนอาจเปลี่ยนไป เนื่องจากจีนเพิ่งมีการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ให้นายสี จิ้นผิง อยู่ในตำแหน่งได้ไม่มีเทอม ตรงนี้อาจเป็นข้อสังเกตได้ว่า ถ้าจีนถอย คนจีนจะรู้สึกอย่างไร และโลกที่คาดหวังให้จีนปกป้อง เป็นผู้นำเรื่องการค้าเสรีจะคิดอย่างไร ประกอบกับจีนยังจับจุดอ่อนของสหรัฐได้ เช่น  จีนอาจใช้ ‘พลังเต้าหู้’ ในการต่อสู้กับสหรัฐ เพราะจีนเป็นผู้นำเข้าถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลก โดยนำเข้าจากอเมริกาปีละ 30 ล้านตัน ซึ่ง 10 รัฐในสหรัฐอเมริกาที่ปลูกถั่วเหลือง ในจำนวนนี้มีถึง 8 รัฐที่เลือกทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี นอกจากนี้ยังมีสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่จีนนำเข้าจากสหรัฐอีก เช่น แอปเปิ้ลและโสม

“ขณะเดียวท่าทีของทรัมป์ยังส่งผลต่อภาคการเงิน ดัชนีดาวน์โจนลดลงจากพีคที่ 26,000 จุด ลดลงเหลือ 23,000 จุด หายไปราว 15%  กระทบต่อตลาดพันธบัตรรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีของสหรัฐ ทะลุ 3% กว่า ซึ่งถือว่าเยอะมาก และหากจีนซึ่งถือพันธบัตรสหรัฐ เทขายหรือแค่ปล่อยข่าวว่าจะขายตรงนี้ก็สร้างผลกระทบอย่างมากแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อการเจรจาสงครามการค้า การเผชิญหน้าที่รุนแรงอาจจะลดลง”

อธิการบดีสถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์ ยังกล่าวถึงพัฒนาการของจีน ในช่วงเปิดประเทศ ราวปี 1979-1980 ด้วยว่า จีดีพีของจีนเท่ากับ  1 ใน 15 เท่าของอเมริกาเท่านั้น แต่ทุกวันนี้จีดีพีของจีนอยู่ที่ 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อเมริกา 19.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจากการศึกษาและประมวลพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ประเทศจีนพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีด้วยกัน 7 ตัวแปร คือ 1. การพัฒนาเรื่องการขนส่ง (Transportation development) ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาไปทุกที่ สร้างสถานีรถไฟไปที่ไหน เกิดความเจริญที่นั่น 2. การพัฒนาเรื่องการสื่อสาร (Communication development) ยกตัวอย่างเรื่องอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่าง  3. การตลาดที่เอื้อต่อเศรษฐกิจ (Market friendly economy) 4. การพัฒนาภาคการเงิน (Financial development) ทั้งตลาดเงินตลาดทุน

“5.การพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี (Technological development) ทั้งเครื่องจักรกล เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี ล่าสุดจีนลงทุนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา อยู่ที่ 2.1% ของจีดีพี 6. ความมั่นคงทางการเมือง (Political stability) และ 7. การพัฒนาด้านบุคลากร (Human resource development) ซึ่งจีนให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและพัฒนาคนเป็นหลัก ปัจจุบันมีประชากรจีนไปเรียนที่สหรัฐที่ปีละกว่า 3 แสนคน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเแนวทางเหล่านี้ ประเทศไหนนำไปใช้ก็จะช่วยพัฒนาประเทศได้เช่นกัน”

ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ กล่าวถึงเรื่องการปกป้องตลาดการค้าเสรีว่า ความจริงแล้วในเรื่องนี้ ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายไม่มีใครที่บริสุทธิ์ผุดผ่องสักประเทศเดียว สหรัฐอเมริกาตอนก่อร่างสร้างประเทศ ช่วงศตวรรษที่ 18 – 19 ก็เคยปกป้องตลาดตัวเองเช่นกัน จนเมื่อสร้างประเทศเข้มแข็งจึงบังคับให้หลายประเทศมาทำการค้าเสรี ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาขณะนี้มองว่าไม่ใช่แค่เรื่องการค้า แต่เป็นเรื่องการแข่งขันกัน เพราะเศรษฐกิจของจีนกำลังแซงหน้าสหรัฐ และตั้งแต่ไหนมาก็พบว่า เทคโนโลยีเป็นหัวใจในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เป็นตัวตัดสินของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งจีนประกาศชัดแจ้งว่าในปี 2025 จีนจะต้องเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี สหรัฐจึงพยายามออกกฎหมาย เพื่อควบคุมการขายเทคโนโลยีให้กับจีน

ขณะที่ข้อเท็จจริงเรื่องจีนได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ  ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ กล่าวว่า สหรัฐกำหนดให้จีนลดการขาดดุลกับสหรัฐให้ได้ 200,000 ล้านดอลลลาร์สหรัฐ ซึ่งจีนก็บอกในทำนองว่า ไว้ชาติหน้า เพราะขณะนี้จีนเองก็มีความมั่นใจในเรื่องการค้าการลงทุนมากกว่าแต่ก่อน และยังต้องการเปิดการค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันระบอบการปกครองของจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์ก็ทำให้ไม่มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ ไม่มีใครออกมาเรียกร้อง ต่างจากสหรัฐอเมริกาที่มีปัญหาเรื่องนโยบายภาษี การออมของคนอเมริกันอยู่ในระดับต่ำ และยังมีกลุ่มผลประโยชน์ขัดแย้งกันอยู่ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของสหรัฐถดถอยลง

“จีนผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ปี 2015 จีดีพีของจีน ขึ้นมาเป็น 61% ของจีดีพีของสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันข้อมูลเมื่อปี 1980 พบว่าจีนนำเข้า 8% จากสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันนำเข้าเพิ่มเป็น 73%  ขณะที่การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐปี 1980 อยู่ประมาณ 8% อีก 25 ปีต่อมากลับเพิ่มเป็น 151% แสดงให้เห็นถึงความสามารถของจีนที่เติบโตได้อย่างพรวดพราด เช่นเดียวกับ เงินสำรองระหว่างประเทศ ในปี 1980 จีนมีแค่ 16% ของสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันมีเงินสำรองถึง 3140% ของสหรัฐ จะเห็นถึงความสามารถของจีนด้านการค้า และจีนยังเข้าไปซื้อพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาด้วย เมื่อสหรัฐออมน้อย ใช้จ่ายมาก ตรงนี้ก็มีส่วนทำให้ขาดดุลการค้ากับจีน”

ดร. ไชยวัฒน์ กล่าวต่อว่า การปกป้องตลาด กฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่กำลังตั้งกำแพงภาษีกับจีน เชื่อว่าเรื่องนี้มีผลต่อกลุ่มผลประโยชน์ ฐานเสียงที่สนับสนุนทรัมป์ เช่นในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง หากจีนตั้งกำแพงภาษีตอบโต้ หรือกรณีสินค้าอุตสาหกรรม เมื่อปีที่แล้วพบว่า จีนสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้งจากสหรัฐ 1 ใน 4 ของกำลังการผลิต และปัจจุบันจีนยังต้องการเครื่องบินอีกอีกราว 7,000 ลำ เพื่อรองรับกับจำนวนประชากรที่มีฐานะดีขึ้น ซึ่งจุดนี้ช่วยสนับสนุนการจ้างงานและเศรษฐกิจของสหรัฐ  ขณะที่บริษัทรถยนต์บางแห่งก็มียอดคำสั่งซื้อจากจีนมากกว่ายอดขายภายในสหรัฐเสียอีก ดังนั้นจึงมองว่าการที่ทรัมป์ต้องการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กกล้า อลูมิเนียม เมื่อเทียบกันแล้วอาจได้รับผลกระทบมากกว่า  นอกจากนี้อาจทำให้เศรษฐกิจโลกที่กำลังจะฟื้นตัวได้รับผลกระทบ

“หากจีนกับสหรัฐยังตอบโต้กันไปกันมา ก็ไม่มีใครได้ประโยชน์ นายสี จิ้นผิง เคยพูดเตือนชาวโลกไว้เมื่อปีที่แล้วว่า การดำเนินนโยบายปกป้องตลาดก็เป็นการขังตัวเองไว้ในห้องมืด อาจจะทำให้ลมฝนเข้ามาไม่ได้ แต่ห้องมืดก็ขาดแสง อากาศ เฉา สุดท้ายก็ไม่มีใครชนะ หากต้องทำสงครามการค้า” ดร. ไชยวัฒน์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการแข่งขันของจีนกับสหรัฐไม่ได้แข่งขันกันแค่ในด้านเศรษฐกิจ แต่มีเรื่องความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะสองเรื่องนี้แยกกันไม่ออก