โกลด์แมน แซกส์ เตือนอังกฤษ พิษเบร็กซิตสะเทือน “ลงทุน”

นับตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2016 สหราชอาณาจักร (ยูเค) ได้ลงประชามติเสียงส่วนใหญ่ให้ออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มี.ค. 2562 นี้ แต่ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นมาตลอดกว่า 2 ปี กำลังบั่นทอนสถานะ “ศูนย์กลางทางการเงินโลก” ของอังกฤษลงเรื่อย ๆ

ในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม หรือ WEF ที่เมืองดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 22-25 ม.ค.ที่ผ่านมา นายเดวิด โซโลมอน ประธานและซีอีโอคนใหม่ของโกลด์แมน แซกส์ บริษัทวาณิชธนกิจชั้นนำของสหรัฐอเมริกา แสดงความกังวลในประเด็น “เบร็กซิต” ว่าผลกระทบจะกระจายไปในหลายด้าน ทั้งกระทบต่อประชาชนของสหภาพยุโรป (อียู) และชาวอังกฤษ การข้ามพรมแดน การค้าและเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ “การลงทุน”

รายงานของบีบีซีอ้างคำกล่าวซีอีโอของโกลด์แมน แซกส์ ที่ระบุว่า ความยุ่งเหยิงของเบร็กซิตกับสถานะของอังกฤษในฐานะ “ศูนย์กลางทางการเงิน” อันดับหนึ่งของโลก เริ่มส่งผลกระทบตั้งแต่ที่มีประกาศผลการลงประชามติเมื่อ 2 ปีก่อน โดยเฉพาะกับสถาบันการเงินและธนาคารหลายแห่งที่แสดงความกังวล และชะลอแผนการลงทุนในอังกฤษทันที โดยส่วนใหญ่ประกาศแผนเตรียมย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังเมืองดับลินของไอร์แลนด์ ด้วยปัจจัยในเรื่องของภาษีที่ดึงดูดการลงทุน นอกจากนี้ กรุงปารีส และแฟรงก์เฟิร์ต ก็เป็นที่อีกหนึ่งเป้าหมายของหลายธนาคารด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินและธนาคารต่าง ๆ ที่ประกาศชัดทั้งแผนการย้ายสำนักงานใหญ่ และโยกพนักงานบางส่วนออกจากกรุงลอนดอน ได้แก่ บาร์เคลย์, แบงก์ ออฟ ไชน่า, แบงก์ ออฟ อเมริกา, สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด, เครดิต สวิส, เอชเอสบีซี, มอร์แกน สแตนเลย์, ซิตี้กรุ๊ป, ซูมิโตโม, มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป, ธนาคารไดวา และโนมูระ

นายโซโลมอนกล่าวว่า แม้ว่าโกลด์แมน แซกส์ ไม่มีแผนโยกย้ายพนักงานที่ประจำการในสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่มีประมาณ 6,000 คน เหมือนกับสถาบันการเงินอื่น ๆ แต่ก็ไม่มีการจ้างงานเพิ่มเช่นกัน ทั้งยังชะลอแผนลงทุนเพิ่มในยูเคมาแล้ว 2 ปี หากเทียบกับสำนักงานอื่นในยุโรป บริษัทได้จ้างงานเพิ่มหลายพันอัตรา ตั้งแต่ที่มีกระบวนการเบร็กซิตขึ้น

กระบวนการเบร็กซิตกลายเป็นเรื่องยากและซับซ้อนกว่าที่คิด ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้กำลังทำให้อังกฤษกลายเป็นประเทศที่ถูกลืม หรือถูกเพิกเฉยจากกลุ่มธุรกิจนานาประเทศ โดยเฉพาะในฐานะที่เคยยิ่งใหญ่จากการเป็นฮับทางการเงินของโลกมานาน

“เมื่ออังกฤษหมดความสามารถในการเข้าถึง “ตลาดเดียว” ของอียู ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ปรากฏการณ์โยกฐานธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ออกจากลอนดอน และไปสร้างศูนย์กลางทางธุรกิจแห่งใหม่ในอียูแทน ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดจากเหล่านักธุรกิจว่าต้องการที่จะคงสิทธิในการเข้าถึงตลาดอียูเช่นเดิม ขณะที่การเบร็กซิตไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีนัก”

ซีอีโอใหม่ของโกลด์แมน แซกส์ ยังระบุด้วยว่า หากท้ายที่สุดแล้วกระบวนการเบร็กซิต มีผลบังคับใช้ได้ทันตามกำหนด 29 มี.ค.นี้ เศรษฐกิจของยูเค โดยเฉพาะหัวหอกอย่าง “อังกฤษ” ที่ได้รับความบอบช้ำมามากในระหว่างการถอนตัว คงไม่ง่ายที่จะฟื้นตัวได้เร็ว เพราะเท่ากับว่าอังกฤษจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ซึ่งการเจรจาการค้าแบบทวิภาคีน่าจะเป็นหนทางแรก ๆ ที่อังกฤษเริ่มทำ

โดยก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า รัฐบาลของอังกฤษและญี่ปุ่นประกาศเป้าหมายร่วมกันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จะพยายามบรรลุข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ยูเค-ญี่ปุ่น ภายในปี 2020 อีกทั้งอังกฤษได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ใน CPTPP หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หลังจากที่การเบร็กซิตสมบูรณ์ด้วย