“ราคูเท็น” ติวเข้มอีคอมเมิร์ซ ทางเลือกใหม่เจาะตลาดญี่ปุ่น

“อีคอมเมิร์ซ” แม้จะเป็นธุรกิจที่กำลังมาแรง แต่การแข่งขันก็ทวีความรุนแรงจนน่าจับตามอง “ราคูเท็น” อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ได้ให้คำแนะนำผู้ประกอบการไทยในการแสวงหาโอกาสจากธุรกิจนี้ ในฐานะอีคอมเมิร์ซที่มียอดขายอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น ในงานสัมมนา “พัฒนาความรู้ในการเข้าสู่ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่น” จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมกับเจโทร กรุงเทพฯ

นายฮิโรกิ มิทซึมาตะ ประธานเจโทรฯกล่าวว่า โอกาสในการขยายตลาดสินค้าไทยในญี่ปุ่นยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะการใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซของญี่ปุ่นในปี 2018 มีมูลค่าสูงถึง 122,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะยังขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ย 20% ทุกปี จนถึงปี 2020 ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรมองข้าม

นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า สินค้าไทยที่น่าจะมีโอกาสเติบโตสูงในตลาดญี่ปุ่น คือ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าในธุรกิจโรงแรม สินค้าสำหรับกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ และสินค้าด้านกีฬา

ขณะที่ นายมิทช์ ทาคาฮาชิ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปฝ่ายธุรกิจการค้าข้ามพรมแดน บริษัทราคูเท็น ถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จของ “ราคูเท็น” โดยชี้แนะผู้ประกอบการไทยว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังเป็นที่นิยมของนักช็อปออนไลน์ทั่วโลก ราคูเท็นเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มียอดขายสูงสุดในญี่ปุ่น ปี 2018 มียอดขายรวมทั้งหมดที่ 15.4 ล้านล้านเยน เติบโตเพิ่มขึ้น 18.4% เทียบกับปี 2017

ปัจจัยแห่งความสำเร็จมาจากความโดดเด่นในการให้บริการผ่านระบบเมมเบอร์ชิป โดยราคูเท็นมีสินค้ากว่า 70 ประเภท เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การตลาด การท่องเที่ยว ดนตรี-กีฬา สื่อโทรทัศน์ โทรคมนาคม การเงิน ธนาคาร บัตรเครดิต และประกันภัย ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการทั้งหมดได้ด้วยเมมเบอร์ชิปเดียว ปัจจุบันราคูเท็นมีสมาชิกเข้าลงทะเบียนทั้งสิ้น 1,100 ล้านคน ใน 29 ประเทศทั่วโลก

“จุดแข็งของราคูเท็นที่ประสบความสำเร็จ มาจากระบบคะแนนสะสมที่ให้ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นตามจำนวนการใช้บริการ เรียกว่า “ซูเปอร์พอยต์อัพ” (เอสพียู) ซึ่งคะแนนสะสมสามารถนำไปใช้แทนเงินสดแลกซื้อสินค้ากับร้านค้าที่เป็นพาร์ตเนอร์ของราคูเท็นได้ ที่ผ่านมาการใช้ระบบดังกล่าวทำให้ลูกค้าเลือกที่จะใช้บริการมากกว่า 2 ประเภทขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนที่ 76.6% จากจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการทั้งหมด”

นายทาคาฮาชิระบุว่า สินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และของตกแต่งบ้าน เป็นที่นิยมมากในตลาดอีคอมเมิร์ซญี่ปุ่นในปัจจุบัน และยังมีโอกาสขยายตัวได้อีก โดยเฉพาะในรูปแบบธุรกิจ C2C หรือการซื้อขายสินค้าที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนแรงงานบวกกับการเติบโตของผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ทำให้ราคูเท็นคิดค้นกลยุทธ์ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ให้ลูกค้ามารับสินค้าได้ที่ร้านค้าใกล้บ้านที่เป็นพาร์ตเนอร์กับราคูเท็น ซึ่งมีมากกว่า 3 ล้านแห่งทั่วโลก และมีการติดตั้งล็อกเกอร์รับสินค้าตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สถานีรถไฟ เป็นต้น

“ราคูเท็น” ได้พัฒนาระบบคลิก-แอนด์-พิกที่ให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าในระบบออนไลน์แล้วมารับสินค้าได้ที่ร้านค้า เป็นการประหยัดค่าขนส่งและดึงดูดลูกค้าให้มาเลือกซื้อสินค้าเพิ่มภายในร้านได้อีกด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังมี “ราคูเท็น ยูนิเวอร์ซิตี้” คือจะมีเจ้าหน้าที่ของราคูเท็นช่วยแนะนำการสร้างคอนเทนต์ของสินค้า การออกแบบแพลตฟอร์ม และการบริหารจัดการร้านออนไลน์ เพราะการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซควรมีความหลากหลาย และมีบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ครบวงจร

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับราคูเท็นต้องผ่านการพิจารณาตามเงื่อนไขเบื้องต้น เช่น ผู้ประกอบการชาวต่างชาติต้องมีนิติบุคคลในญี่ปุ่น หรือมีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งราคูเท็นมีระบบพาร์ตเนอร์โปรแกรมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจและมีคลังเก็บสินค้าในญี่ปุ่นได้

สำหรับประเทศไทยนั้นปัจจุบันพฤติกรรมคนไทยยังนิยมการเลือกซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ หรือซูเปอร์มาร์เก็ตมากกว่า แต่พฤติกรรมเริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการซื้อของผ่านระบบออนไลน์มีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ดูได้จากการเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในไทย รวมถึงบริการในลักษณะแกร็บแท็กซี่ก็เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนถึงความพร้อมของระบบขนส่งและการใช้บริการออนไลน์ที่สูงขึ้น

นอกเหนือจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ที่ราคูเท็นได้เข้าไปขยายธุรกิจแล้ว ผมมองว่าประเทศไทย อินโดนีเซีย รวมถึงสิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีศักยภาพมากในธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียน ทั้งในแง่ของพฤติกรรมผู้บริโภค และจำนวนประชากร รวมถึงความแข็งแกร่งของระบบออนไลน์และโลจิสติกส์

ส่วนแผนการมาลงทุนหรือขยายธุรกิจในไทยราคูเท็นยังไม่มีแผนชัดเจน เพราะมีหลายปัจจัยต้องศึกษา โดยเฉพาะการมีพาร์ตเนอร์ที่น่าสนใจ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!