“ศาลอาญาโลก” ย้ำผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความโหดร้ายต่อ “โรฮีนจา” ต้องรับโทษ

AFP

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ระบุว่า บุคคลใดก็ตามที่ต้องรับผิดชอบต่อความโหดร้ายรุนแรง ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวมุสลิมโรฮีนจาในรัฐยะไข่ของเมียนมาหลายแสนคนต้องหลบหนีออกจากบ้านเกิด จะต้องได้รับโทษจากความผิดที่กระทำลงไป

การออกมาแสดงจุดยืนดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่นายฟากีโซ โมโชโชโก หัวหน้าฝ่ายดูแลขอบเขตอำนาจศาลและความร่วมมือของไอซีซี ได้ลงพื้นที่ค่ายผู้อพยพชาวโรฮีนจาในเมืองค็อกซ์บาซาร์ ของบังกลาเทศ โดยเขาย้ำว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าเมียนมาไม่ได้ลงนามเข้าเป็นภาคีของไอซีซีไม่ได้เป็นเครื่องกีดขวางต่อการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดแต่อย่างใด แม้ว่าประเด็นดังกล่าวอาจสร้างความท้าทายต่อการดำเนินการของไอซีซีในการสอบสวน แต่เราเคยเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้มาแล้วในอดีต และเราก็สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้

อย่างไรก็ดีนายโมโชโชโกยืนยันว่า การลงพื้นที่ค่ายผู้อพยพในค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งปัจจุบันมีชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่เกือบ 1 ล้านคน เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้นเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก สำหรับการประเมินสถานการณ์และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ที่สำนักงานของนางฟาทู เบนซูดา อัยการของไอซีซี กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อที่จะสรุปว่าจะเดินหน้าประกาศให้ทำสอบสวนอย่างเป็นทางการหรือไม่

“การตรวจสอบเบื้องต้นไม่ใช่การสอบสวน แต่เป็นการประเมินสถานะของเรื่องที่เกิดขึ้น ว่าเข้าข่ายที่จะมีการประกาศให้ทำการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบต่อไปหรือไม่ ดังนั้นการเยือนบังกลาเทศของคณะในครั้งนี้ จึงเป็นเพียงการดำเนินการตามขั้นตอนปกติเท่านั้น” นายโมโชโชโกกล่าว

หัวหน้าฝ่ายขอบเขตอำนาจศาลของไอซีซีกล่าวด้วยว่า ผลการสอบสวนเบื้องต้นจะมุ่งประเด็นไปที่การตรวจสอบเกี่ยวกับบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ผู้ที่สั่งการให้มีการดำเนินการ และผู้ที่คอยบัญชาการ และคนที่ทำสิ่งต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดการก่ออาชญากรรมดังกล่าวขึ้น

ทั้งนี้อัยการของไอซีซีมีพันธกรณีที่จะทำงานเพื่อรับประกันว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังต่อความโหดร้ายรุนแรงที่ทำให้ชาวโรฮีนจาต้องทุกข์ระทมจะต้องถูกนำตัวมารับโทษ

การส่งทีมมาลงพื้นที่ของไอซีซีมีขึ้นหลังจากที่เมื่อปีที่ผ่านมา ผู้พิพากษาศาลไอซีซีได้ตัดสินว่า แม้เมียนมาจะไม่ได้ลงนามรับอำนาจศาล แต่ไอซีซีมีสิทธิตามกฎหมายที่จะดำเนินการต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจาได้ เนื่องจากบังกลาเทศเป็นสมาชิกของไอซีซี

 

ที่มา : มติชนออนไลน์