“เฟด” ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย นักลงทุนเก็งปีนี้หั่น 2 รอบ

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา นับว่าเป็นการประชุมนัดที่ถูกนักลงทุนและตลาดจับตามองมากที่สุดครั้งหนึ่ง เพื่อจับสัญญาณว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่ หลังจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยืดเยื้อและบานปลายมากกว่าที่คาด สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจจนไม่สามารถคาดเดาอะไรได้

ก่อนหน้านี้ ตลาดส่วนใหญ่ประเมินว่าการลดดอกเบี้ยจะยังไม่เกิดขึ้นในการประชุมนัดนี้ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งผลการประชุมก็เป็นไปตามนั้น กล่าวคือ คณะกรรมการมีมติ 9 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เดิม คือ ระหว่าง 2.25-2.5% ถือว่าเป็นมติที่ไม่เอกฉันท์ โดยมีกรรมการ 1 คนต้องการให้ลดดอกเบี้ย ส่วนแถลงการณ์ของเฟดบ่งชัดว่า เปิดประตูสำหรับการลดดอกเบี้ยในอนาคต ถือเป็นครั้งแรกนับจากปี ค.ศ. 2008 ที่เฟดแสดงท่าทีพร้อมจะลดดอกเบี้ย

หากดู dot plot หรือแผนภาพประมาณการทิศทางอัตราดอกเบี้ยของกรรมการเฟดรายบุคคลจากทั้งหมด 17 คน พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งเต็มใจจะปรับดอกเบี้ยลงในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และ 7 คนเห็นว่าควรปรับลง 0.5% ซึ่งใกล้เคียงกับความคาดหวังของนักลงทุนพันธบัตร

สัญญาณที่บอกว่าจะลดดอกเบี้ยในอนาคต ดูได้จากแถลงการณ์ของเฟดที่เปลี่ยนแปลงถ้อยคำในการบรรยายสถานการณ์เศรษฐกิจต่างไปจากเดือนพฤษภาคม กล่าวคือเปลี่ยนจาก “เศรษฐกิจขยายตัวแข็งแกร่ง” เป็น “ขยายตัวปานกลาง”

พร้อมกับยกเลิกคำว่า “จะใช้ความอดทนก่อนตัดสินใจปรับเปลี่ยนดอกเบี้ย” ออกไปจากรายงาน แล้วใช้คำว่าจะตอบสนองอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาการขยายตัวเศรษฐกิจที่ดำเนินต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี เนื่องจากขณะนี้เกิดความไม่แน่นอนหลายอย่าง ประกอบกับไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด แถลงหลังการประชุมว่า การเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่เคยก้าวหน้าอย่างชัดเจน บัดนี้กลายเป็นความไม่แน่นอนมากขึ้น ดังนั้น คณะกรรมการหลายคนจึงเห็นว่า มีเหตุผลมากขึ้นในการใช้นโยบายที่เกื้อหนุนเศรษฐกิจ

“แม้ว่าเศรษฐกิจพื้นฐานมีแนวโน้มน่าพอใจ แต่ความเสี่ยงยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งความตึงเครียดทางการค้าอาจฉุดดึงการลงทุนของธุรกิจสหรัฐ ตลอดจนมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจนอกประเทศเติบโตช้าลง” ประธานเฟดระบุ

นายนีล เบอร์เรล หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนพรีเมียร์ แอสเสท แมเนจเมนต์ ชี้ว่าการตัดสินใจคงดอกเบี้ยของเฟด ไม่ได้สร้างความประหลาดใจแก่นักลงทุน แต่มติที่ไม่เอกฉันท์บ่งบอกว่าการลดดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นแน่ เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีนี้ อย่างที่ตลาดพันธบัตรคาดหวัง ส่วนสตีฟ ริก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์คูนา มิวชวล กรุ๊ป เห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ประนีประนอม กล่าวคือ ไม่ช็อกตลาด แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความมั่นใจบางส่วนแก่นักลงทุน

หลังทราบผลการประชุม ตลาดประเมินว่ามีโอกาส 80% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยเดือนกรกฎาคม และมีโอกาส 70% ที่จะลดอีกครั้งในเดือนกันยายนปีนี้ ขณะที่ตลาดตอบสนองผลการประชุมไปในทิศทางสอดคล้องกัน โดยผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ ลดลงต่ำกว่า 2% เป็นครั้งแรก นับจากเดือนพฤศจิกายน 2016 ต่ำกว่าระดับจิตวิทยา ส่วนดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 38.46 จุด หรือ 0.15% ส่วนในฟากของตลาดหุ้นเอเชียเช้าวันถัดมาส่วนใหญ่ปรับขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง ญี่ปุ่น เซี่ยงไฮ้ เกาหลีใต้

สื่ออเมริกันมองว่าการตัดสินใจคงดอกเบี้ยก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กดดันให้เฟดลดดอกเบี้ยมาโดยตลอด ล่าสุดก่อนประชุมเฟด 1 วัน เมื่อนักข่าวถามทรัมป์ว่า ยังอยากปลดประธานเฟดอยู่หรือไม่ ทรัมป์ตอบว่า จะคอยดูว่านายพาวเวลล์จะทำอย่างไร ส่วนนายพาวเวลล์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในเรื่องเดียวกันว่า กฎหมายระบุชัดว่า วาระของตนคือ 4 ปี และตนตั้งใจจะอยู่ครบเทอม

ปีที่แล้ว เฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง 4 ครั้ง และในคาดการณ์เดือนธันวาคม เฟดยังคงประเมินว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ อย่างไรก็ตาม เฟดไม่ใช่ธนาคารกลางแห่งเดียวที่เปลี่ยนทิศทาง เพราะธนาคารกลางยุโรปก็ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเช่นกัน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลีย อินเดีย รัสเซีย ล้วนลดดอกเบี้ยไปแล้วในเดือนนี้