ตลาดผิดหวังสัญญาณ “เฟด” ไม่รับประกันหั่น ดบ.ในอนาคต

REUTERS/Brendan McDermid
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหะเดชะ

ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม มีมติไม่เอกฉันท์ 8 ต่อ 2 ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ลงสู่ระดับ 2-2.25% เป็นไปตามความคาดหวังของตลาด นับเป็นการหั่นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี หลังจากปรับขึ้นต่อเนื่อง 9 ครั้งรวด ทั้งนี้ เฟดให้เหตุผลว่าแม้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันจะเติบโตได้ในระดับปานกลางและการจ้างงานแข็งแกร่ง อัตราการว่างงานต่ำ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนสูงขึ้น แต่การลงทุนในภาคธุรกิจอ่อนแอ เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ จึงตัดสินใจใช้นโยบายผ่อนคลาย พร้อมกันนี้ ยังตัดสินใจหยุดการลดขนาดงบดุลเร็วกว่ากำหนด 2 เดือน จากเดิมจะหยุดในเดือนกันยายน พร้อมกับระบุว่า เฟดเปิดประตูสำหรับดำเนินการอย่างเหมาะสมในอนาคตเพื่อรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ครั้งนี้เฟดจะลดดอกเบี้ยสอดคล้องกับความคาดหวังของตลาด แต่เมื่อดูสัญญาณในอนาคตแล้ว กลับทำให้นักลงทุนผิดหวังและเทขายหุ้นกระทั่งดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงมากถึง 478 จุด ระหว่างการซื้อขาย แย่ที่สุดนับจากเดือนพฤษภาคม ก่อนจะฟื้นตัวเล็กน้อยเมื่อปิดตลาด โดยปิดที่ 26,864.27 จุด ลดลง 333.75 จุด หรือ 1.23% ส่วนดัชนีดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 2 ปี

สาเหตุที่ทำให้นักลงทุนผิดหวังมาจากไม่กี่ประโยคของเฟดที่บอกว่า การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการ “ปรับเปลี่ยนในช่วงกลางของวัฏจักร” ซึ่งถูกนักลงทุนตีความว่า เป็นการส่งสัญญาณในอนาคตเชิงไม่รับประกันว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอย่าง aggressive ในอนาคตอย่างที่ตลาดคาดหวัง จากที่ก่อนหน้านี้ตลาดซึมซับข่าวที่ว่าจะมีการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ หรือเท่ากับว่าต้องลดอีก 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ได้ออกมาอธิบายความหมายของประโยคดังกล่าวว่า หมายถึงเฟดจะไม่ลดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลานานในอนาคตอย่างที่เคยทำในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยหลังจากวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ เพราะในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจไม่ได้อ่อนแออย่างเห็นได้ชัด จนต้องลดดอกเบี้ยเป็นเวลานาน

เบน เจฟฟรีย์ นักกลยุทธ์การลงทุนสินทรัพย์ถาวรของ BMO ระบุว่า ถ้อยแถลงของเฟดอาจหมายถึงว่า ไม่จำเป็นต้องมีการลดดอกเบี้ยอีก ขณะที่ วอร์ด แมคคาร์ธี นักเศรษฐศาสตร์การเงินมองว่า ประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณชัดว่าจะลดดอกเบี้ย ถ้อยแถลงมีความคลุมเครือ ดูคล้ายจะไม่มีความมั่นใจ ตนคิดว่าเป็นเพราะเฟดกังวลว่าจะเกิดความเสี่ยงด้านลบในอนาคต ส่วนมาร์ค คาบานา หัวหน้านักกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ เห็นว่า เฟดส่งสารที่น่าสับสน ปราศจากทิศทางชัดเจนเกี่ยวกับการผ่อนคลายเพิ่มเติมในระยะสั้น เป็นเหตุให้ตลาดตอบสนองทางลบ

การลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% ไม่เป็นไปตามแรงบีบของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และลาร์รี คัดโลว์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว ที่ต้องการให้ลดมากถึง 0.50% โดยในมุมมองของทำเนียบขาวและทรัมป์เห็นว่า หากก่อนหน้านี้เฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้จีดีพีในยุคของทรัมป์สูงกว่านี้ อาจถึง 4% และดัชนีดาวโจนส์ก็จะสูงกว่านี้ 10,000 จุด

ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.1% ลดลงจากไตรมาส 1 ซึ่งเติบโต 3.1% อัตราว่างงาน 3.7% ต่ำสุดในรอบเกือบ 50 ปี อย่างไรก็ตาม สงครามการค้ากับจีนที่สหรัฐเป็นฝ่ายเปิดศึก เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่าหากเฟดจะลดดอกเบี้ย ก็จะไม่ใช่การลดเพื่อตามใจทางการเมืองแก่ทรัมป์ แต่เป็นการลดเพราะสถานการณ์บังคับเพื่อบรรเทาผลกระทบจากพิษสงครามการค้า

ภายหลังทราบผลการประชุม ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตข้อความว่า ผิดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด และพาวเวลล์ทำให้เราผิดหวังตามเคยอย่างไรก็ตาม ทรัมป์เสริมว่าอย่างน้อยเฟดก็ยุติการลดขนาดงบดุล ทั้งที่ไม่ควรลดตั้งแต่แรกเพราะไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ