จีน ‘เล่นเกมยาว’ ศึกการค้า ตามรอย ‘สหรัฐ-ญี่ปุ่น’ ในอดีต

China's President Xi Jinping waves as he leaves after a press conference at the end of the final day of the Belt and Road Forum at the China National Convention Centere at the Yanqi Lake venue outside Beijing on April 27, 2019. (Photo by WANG ZHAO / POOL / AFP)

ชีพจรเศรษฐกิจโลก

นงนุช สิงหเดชะ

เป็นเวลา 18 เดือนแล้วที่สหรัฐและจีนยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลก เปิดศึกการค้าด้วยการขึ้นภาษีตอบโต้กัน แม้สองฝ่ายตกลงจะกลับสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้งในเดือนกันยายน หลังจากเปิดศึกรอบล่าสุดด้วยการที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเต็มมูลค่าที่นำเข้าจากจีนทั้งหมดคือ 5 แสนกว่าล้านดอลลาร์ แต่หากดูจากการส่งสัญญาณของจีน ตลอดจนมุมมองของนักวิเคราะห์หลายคน มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในสมัยของรัฐบาลทรัมป์ เพราะจีนน่าจะรอจนกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งต่อไปในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ผ่านพ้นไปก่อน

อี้ เฉียง นักเศรษฐศาสตร์ดอยช์แบงก์ ระบุว่า จีนเตรียมพร้อมในการทำสงครามยาวนานเทียบเท่าสงครามการค้าสหรัฐ-ญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 1980 ที่กินเวลาเกิน 1 ทศวรรษเราคิดว่าจีนไม่เร่งรีบที่จะบรรลุข้อตกลงและไม่พยายามจะโต้กลับสหรัฐรุนแรงเท่าที่จะทำได้ กลยุทธ์ของจีนคือเล่นเกมยาว ซึ่งอาจยาวไปไกลกว่ายุครัฐบาลทรัมป์ ขณะที่จีนยังคงเปิดกว้างที่จะเจรจาต่อไป แต่จะไม่ยอมสยบต่อสหรัฐ เห็นได้จากจีนพยายามกระจายความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง

อี้ เฉียง ตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้สหรัฐจะขึ้นภาษีสินค้าจีน มูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ในอัตรา 10-15% แต่จะเห็นว่าจีนตอบโต้ด้วยอัตราที่น้อยกว่า คือ 5-10% สำหรับสินค้าสหรัฐ มูลค่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ นั่นก็เพราะเป้าหมายของจีนไม่ใช่เพื่อสร้างความเสียหายให้มากที่สุด แต่เพื่อลดแรงจูงใจของสหรัฐในการขึ้นภาษีรอบต่อไป จีนจะยังตอบโต้ต่อไป แต่ด้วยมาตรการที่รุนแรง
น้อยกว่าและจำกัดเป้าหมายเฉพาะ

หนังสือพิมพ์พีเพิล’ส เดลี่ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตีพิมพ์บทความแสดงให้เห็นถึงว่าจีนเพิ่มความพยายามในการร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ทั้งไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และละตินอเมริกา เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐ และเพิ่มความเข้มแข็งของตลาดภายในประเทศด้วยการออกมาตรการมากมายเพื่อกระตุ้นการบริโภค นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อส่งเสริมการกระจายสินค้า ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานค้าปลีก เร่งพัฒนาเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ

หู สีจิ้น บรรณาธิการหนังสือพิมพ์พีเพิล’ส เดลี่ ซึ่งนักลงทุนในวอลล์สตรีตติดตามความเคลื่อนไหวของเขามากที่สุด เพราะสิ่งที่เขาพูดหรือเขียนเท่ากับสะท้อนข้อมูลวงในของรัฐบาลจีน ได้ทวีต
ข้อความว่า เป็นเรื่องยากสำหรับสหรัฐมากขึ้นทุกทีในการกดดันให้จีนยอมสยบ

ขณะที่ในมุมมองของ แมกซ์ เบาคัส อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำจีน ชี้ว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้จีนไม่อยากบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลทรัมป์เป็นเพราะไม่ไว้วางใจทรัมป์ เนื่องจากเป็นคนคาดเดา
ไม่ได้ ไม่อยู่กับร่องกับรอย “จีนกลัวที่จะเซ็นข้อตกลงกับทรัมป์เพราะมันอาจไม่ยั่งยืน เชื่อถือไม่ได้ ทรัมป์อาจจะเปลี่ยนใจอีกเมื่อไหร่ก็ได้

เบาคัสบอกว่า จีนคิดว่าการเซ็นข้อตกลงกับรัฐบาลอเมริกันชุดอื่นที่ไม่ใช่ทรัมป์อาจดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็คาดเดาได้ มีความแน่นอนมากกว่า และการเจรจาก็จะมีมาตรฐานมากกว่าทรัมป์ ขณะเดียวกัน ความรู้สึกชาตินิยมที่เพิ่มขึ้นในหมู่คนจีนจะเพิ่มแรงสนับสนุนต่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อันจะทำให้สามารถอดทนต่อแรงกดดันจากสหรัฐได้ยาวนาน ดังนั้น จีนอาจใช้วิธีรอไปเรื่อย ๆ จนกว่าทรัมป์จะเป็นฝ่ายเข้ามาหาเอง

ทางด้านทรัมป์ดูเหมือนจะมองเกมของจีนออกเช่นกัน ล่าสุดทรัมป์ทวีตข้อความขู่จีนว่า รีบเซ็นข้อตกลงเสียในตอนนี้ เพราะหากเขาชนะเลือกตั้งสมัยหน้า จะเล่นงานจีนหนักกว่านี้ การทำข้อตกลงก็จะยากกว่านี้

การออกมาขู่ของทรัมป์อาจเป็นเพียงกระสุนด้านที่จีนอาจไม่ต้องใส่ใจ เพราะการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าทรัมป์มีโอกาสจะชนะ เพราะฐานเสียงที่เป็นเกษตรกรซึ่งเคยช่วยให้เขาชนะเมื่อครั้งที่แล้ว เริ่มออกมาพูดว่าจะไม่โหวตให้ทรัมป์อีกแล้วเพราะเดือดร้อนส่งสินค้าไปจีนไม่ได้ แม้รัฐบาลจะชดเชยเงินให้แต่ก็ไม่คุ้ม พวกเขาต้องการขายสินค้ามากกว่ารอเงินชดเชยจากรัฐบาล