“ตลาดเกิดใหม่” เดินหน้าเติบโต ฝ่ามรสุมสงครามค้าจีน-มะกัน

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

 

แม้การวิเคราะห์ส่วนใหญ่ของผู้เชี่ยวชาญจะให้ภาพที่มืดมนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีสาเหตุใหญ่มาจากปัญหาสงครามการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างจีนและสหรัฐ ทว่า ในมุมมองของนักเคราะห์บางคนกลับเห็นว่า สงครามการค้าไม่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ emerging markets (EM) บางประเทศ

เชทัน เซห์กัล และ แอนดรูว์ เนสส์ ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของเทมเพิลตัน อีเมิร์จจิง อินเวสเมนต์ ทรัสต์ ระบุว่า ถึงแม้สงครามการค้ามีแนวโน้มจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทก็มีเหตุผลที่ดีในการที่จะมีความหวังทางบวกต่อตลาดเกิดใหม่ เพราะบรรดาธนาคารกลางทั่วโลกจะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าประเทศ EM ขนาดใหญ่หลายประเทศจะลดดอกเบี้ยต่อไปอีก ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย บราซิล รัสเซีย เม็กซิโก ประกอบกับการคาดการณ์ว่าผลตอบแทนของบริษัทต่าง ๆ ในตลาดหุ้นจะดีขึ้น จึงเชื่อว่าตลาดเกิดใหม่ยังมีความน่าสนใจ

ส่วนนักวิเคราะห์รายอื่น ๆ ระบุเช่นกันว่า ถึงแม้ทั่วโลกจะเกิดความกลัวเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ชะลอลง อีกทั้งประเทศพัฒนาแล้วมีความอ่อนแอ แต่ก็ยังมีบางประเทศนอกสหรัฐที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ซึ่งจีนมีความโดดเด่นในแง่ที่มีการเติบโตมั่นคง โดยถึงแม้ไตรมาส 3 ปีนี้จีดีพีของจีนจะเติบโต 6% ต่ำสุดในรอบ 27 ปี แต่นั่นแสดงให้เห็นว่าความต้องการบริโภคภายในของตลาดจีนมีเสถียรภาพ ส่วนอินเดีย บราซิลก็จะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากมีความต้องการบริโภคภายในที่แข็งแกร่งและมีนโยบายการเงินการคลังที่สอดคล้องกัน

สงครามการค้าระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่ ส่งผลให้ธนาคารกลางเกือบทั่วโลกต้องลดดอกเบี้ย ล่าสุดการที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรปลดดอกเบี้ยที่ติดลบอยู่แล้ว ให้ติดลบมากขึ้นไปอีก ยิ่งสร้างแรงกดดันให้ประเทศอื่น ๆ ต้องหั่นดอกเบี้ยเช่นกัน อาทิ อินเดีย ต้องลดดอกเบี้ยเป็นรอบที่ 5 ในปีนี้ พร้อมกับออกมาตรการการคลังเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับจีนที่เป็นเป้าหมายโดยตรงของสหรัฐในการเล่นงานทางการค้านั้น ได้ออกกฎหมายใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งได้รับคำชมจากหอการค้าสหภาพยุโรปว่าเป็นกฎหมายที่โอนอ่อนอย่างน่าประหลาดใจต่อความวิตกกังวลทั้งหมดที่นักลงทุนต่างชาติมีต่อจีน เพราะว่ากฎหมายนี้ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคมปีหน้า ได้ให้ความสำคัญในการห้ามไม่ให้บริษัทจีนบังคับบริษัทต่างชาติถ่ายทอดเทคโนโลยีสำคัญเพื่อแลกกับการทำธุรกิจในจีน และยังปรับปรุงมาตรการปกป้องความลับทางการค้า

หากจีนนำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้อย่างเต็มที่จริง ก็เท่ากับจะช่วยแก้ 2 ปัญหาใหญ่ที่นักลงทุนต่างประเทศร้องเรียนมาตลอด ซึ่งก็คือปัญหาการถูกบริษัทจีนบังคับให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและการถูกขโมยความลับทางการค้า ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ล้วนเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดสงครามการค้าจีน-สหรัฐ

การลงทุนจากต่างประเทศจะช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจของจีน เพราะจะช่วยนำเงินทุนเข้าไปและก่อให้เกิดการจ้างงาน นอกจากนั้น จะช่วยทำให้มาตรฐานอุตสาหกรรมของจีนสอดคล้องกับมาตรฐานโลกที่เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการประกาศของทางการจีนเมื่อสัปดาห์ก่อนที่จะยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนของต่างชาติ อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะเปิดเสรีระบบการเงินใน 9 เดือนแรกของปีนี้ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เข้าไปในจีนเพิ่มขึ้น 6.5% ในรูปเงินหยวน หรือเพิ่มขึ้น 2.9% ในรูปดอลลาร์สหรัฐ หรืออยู่ที่ 1 แสนล้านดอลลาร์โดยผู้ลงทุนหลัก ได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ขณะที่ตลอดปีที่แล้วการลงทุนจากสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.7% จากเยอรมนี เพิ่มขึ้น 79.3%

สัปดาห์ที่แล้วกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกมาระบุว่า ในปีนี้จีดีพีของประเทศในเอเชียที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่จะชะลอตัวกว่าที่คาด อาทิ ญี่ปุ่น จะขยายตัวเพียง 0.9% สิงคโปร์ 0.5% เกาหลีใต้ 2% ส่วนจีนจะเติบโต 6.1%