เริ่มแล้วท่อก๊าซ “รัสเซีย-จีน” “ยุทธศาสตร์พลังงาน” สะเทือนยุโรป

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

สัปดาห์ที่แล้วมีการเปิดตัวโครงการหนึ่ง ซึ่งถือว่าสำคัญระดับโลก เรียกว่าเป็น “ข้อตกลงแห่งศตวรรษ” ก็ว่าได้ นั่นก็คือโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติใหญ่ที่สุดจากแคว้นไซบีเรียของรัสฟเซียไปยังชายแดนด้านเหนือของจีน ความยาว 3,000 กิโลเมตร โดย ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดตัวโครงการผ่านระบบวิดีโอทางไกล ซึ่งแน่นอนว่าซีกตะวันตกย่อมไม่สามารถเพิกเฉยต่อความเคลื่อนไหวนี้

โครงการนี้มีมูลค่า 4 แสนล้านบาท โดยบริษัท ก๊าซพรอม พีเจเอสซี ในฐานะผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่สุดของรัสเซีย จะทำหน้าที่ส่งมอบก๊าซให้กับจีนยาวนาน 30 ปี รัสเซียเรียกโครงการนี้ว่า “พาวเวอร์ออฟไซบีเรีย” ประธานาธิบดีปูติน ระบุว่า นี่เป็นความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ด้านพลังงานระหว่างจีนและรัสเซียที่ยกขึ้นไปสู่ระดับใหม่ ส่วนประธานาธิบดีจีน บอกว่า นี่คือโครงการร่วมมือด้านพลังงานแบบทวิภาคีที่มีความสำคัญมาก

ปัจจุบันรัสเซียเป็นผู้ส่งออกก๊าซรายใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความต้องการใช้ก๊าซมากที่สุดในโลก ซึ่งในระยะไม่กี่ปีมานี้ความต้องการเพิ่มขึ้นมาก ปีที่แล้วขยายตัวสูงถึง 43% เพื่อทดแทนพลังงานถ่านหินที่ไม่สะอาด การมีรัสเซียคอยป้อนก๊าซอย่างต่อเนื่องเป็นการรับประกันความมั่นคงทางพลังงานให้กับจีน

โครงการประวัติศาสตร์ดังกล่าวไม่เพียงมีความหมายทางธุรกิจพลังงานเท่านั้น หากแต่แฝงนัยทางการเมืองระหว่างประเทศในยามที่จีนและรัสเซียถูกอเมริกาและชาติตะวันตกผลักไสให้กลับมาใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม โครงการนี้เป็นแผนหนึ่งของรัสเซียที่จะลดพึ่งพาตลาดก๊าซยุโรป แล้วหันมามุ่งเน้นตลาดตะวันออกแทน หลังจากความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและชาติยุโรปย่ำแย่ลงอันเนื่องมาจากรัสเซียผนวกเขตปกครองตนเองไครเมียเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทำให้รัสเซียถูกชาติยุโรปและอเมริกาแซงก์ชั่น

การผนวก ไครเมีย ทำให้เกิดปัญหากับประเทศ ยูเครน เนื่องจากยูเครนอ้างว่าไครเมียเป็นดินแดนของตน แต่ปัจจุบันท่อส่งก๊าซของรัสเซียที่จะส่งไปป้อนตลาดยุโรปส่วนใหญ่ต้องผ่านประเทศยูเครน ซึ่งเกิดข้อพิพาทเรื่องค่าธรรมเนียมทางผ่านอยู่หลายปี กระทั่งรัสเซียเคยปิดท่อก๊าซในกลางฤดูหนาวถึงสองครั้ง ทำให้ยูเครนซึ่งต้องพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียประสบความเดือดร้อนกระทั่งสหรัฐและชาติยุโรปออกมาเรียกร้องรัสเซียส่งก๊าซให้ยูเครน

หากถามว่าโครงการท่อก๊าซรัสเซีย-จีน มีความหมายอย่างไรต่อยุโรป คำตอบก็คือมันจะเพิ่มอำนาจต่อรองของรัสเซียในการทำสัญญาขายก๊าซให้ยุโรป หากรัสเซียสามารถส่งก๊าซไปขายยังซีกตะวันออกเป็นหลัก ทางยุโรปก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถ้าต้องการความมั่นใจว่าจะได้รับก๊าซแน่ ๆ ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันบริษัท ก๊าซพรอมฯ กำลังเปิดท่อก๊าซใหม่ที่เรียกว่า “นอร์ดสตรีม 2” ใต้ทะเลบอลติกซึ่งเพิ่มการผลิตอีกเท่าตัวบนเส้นทางด้านทิศเหนือ อันหมายความว่าท่อก๊าซของรัสเซียที่จะส่งก๊าซไปขายให้ยุโรปไม่จำเป็นต้องผ่านยูเครนอีกต่อไปหากความตึงเครียดกับยูเครนเพิ่มระดับขึ้น รัสเซียก็ไม่ต้องกังวล

การหันมามุ่งเน้นท่อส่งก๊าซไปยังตะวันออกหรือเอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดีกว่าซีกตะวันตก ยังเพิ่มโอกาสด้านรายได้แก่รัสเซีย เพราะรัสเซียยังมีแหล่งก๊าซสำรองอีกจำนวนมากทางด้านตะวันออกไกลที่ยังไม่ถูกขุดเจาะขึ้นมาใช้ ซึ่งบริเวณนี้เป็นจุดที่อยู่ใกล้กับจีนมากกว่ายุโรป

แต่จีนและรัสเซียไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะกำลังคุยกันถึงการเพิ่มท่อก๊าซแห่งใหม่ ที่เรียกว่า “พาวเวอร์ออฟไซบีเรีย 2” ซึ่งจะป้อนก๊าซให้กับเขตอุตสาหกรรมจีนทางชายฝั่งตะวันออก

สื่อตะวันตกตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดตัวท่อก๊าซ พาวเวอร์ ออฟ ไซบีเรีย เกิดขึ้น 2 ปีหลังจากจีนออกมาเปิดเผยถึง “เส้นทางสายไหมขั้วโลก” เพื่อขยายอิทธิพลของจีนไปยังอาร์กติก เนื่องจากน้ำแข็งทั่วโลกที่กำลังละลายได้เปิดช่องทางให้มีการเดินเรือได้ จีนจึงถือโอกาสนำมาใช้เป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างเอเชียกับยุโรปให้ง่ายขึ้น ซึ่งโครงการนี้จะสำเร็จได้ก็ด้วยความร่วมมือกับรัสเซีย