“ไฟป่า” ลามหนัก ซ้ำเติม ศก.ออสเตรเลีย รัฐดันแผนกระตุ้นขนานใหญ่

A resident watches the smoke come across as high winds push smoke and ash from the Currowan Fire towards Nowra, New South Wales, Australia January 4, 2020. REUTERS/Tracey Nearmy
เศรษฐกิจ “ออสเตรเลีย” เผชิญกับภาวะซบเซาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศให้ยิ่งบอบช้ำ นอกจากนี้ “ไฟป่า” ซึ่งลุกลามตั้งแต่ปี 2019 และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง

โดย “เดอะการ์เดียน” รายงานการประเมินสถานการณ์จาก “มูดีส์” บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินระดับโลกพบว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ไฟป่าในปัจจุบัน อาจมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ “วันเสาร์ทมิฬ” หรือเหตุการณ์ไฟป่าครั้งประวัติศาสตร์บริเวณทางตอนเหนือของเมลเบิร์น เมื่อปี 2009 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 173 ราย โดยรายงานของเดอะการ์เดียนระบุว่า ไฟป่าในปัจจุบันกินพื้นที่ทั่วประเทศประมาณ 8.4 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อปี 2009 ที่กินพื้นที่เพียงแค่ 450,000 เฮกตาร์เท่านั้น

“แคทริน่า แอลล์” นักเศรษฐศาสตร์ของมูดีส์ กล่าวว่า ไฟป่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรและการท่องเที่ยวของออสเตรเลีย นอกจากนี้มลพิษจำนวนมหาศาลยังส่งผลกระทบต่อประชาชนออสเตรเลียราว 30% ของประเทศ ซึ่งจะส่งผลปัญหาสุขภาพในระยะยาว

ขณะที่ “คอมมอนเวลท์ แบงก์” ธนาคารข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของออสเตรเลียซึ่งมีสัดส่วนการจ้างงานค่อนข้างสูง นอกจากนี้การลุกลามของไฟป่าทั่วประเทศจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออารมณ์ผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้ภาคการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวและจะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

ขณะที่ “เชน โอลิเวอร์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก “เอเอ็มพี แคปิตอล” กองทุนระดับโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในนครซิดนีย์ ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียว่า อาจสูงถึง 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1% ต่อจีดีพีของออสเตรเลีย โดยจีดีพีของออสเตรเลียไตรมาส 3/2019 เติบโตเพียง 0.4 % เท่านั้น ซึ่งผลกระทบจากไฟป่าอาจส่งผลให้เศรษฐกิจออสเตรเลียบอบช้ำยิ่งขึ้น

ดังนั้นเพื่อป้องกันการชะลอตัวและกระตุ้นเศรษฐกิจ ทางรัฐบาล “สก็อต มอร์ริสัน” จึงจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ โดย “บลูมเบิร์ก” รายงานว่า

รัฐบาลออสเตรเลียจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูผลกระทบจำนวนเงินกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น ขณะที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ประกาศแผนการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดการณ์ว่าทางการจะประกาศมาตรการลงทุนและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมอีกในอนาคต

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 0.75% สู่ระดับ 0.5% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในการประชุมวันที่ 4 ก.พ.นี้

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของบริษัทการเงินชั้นนำอย่าง “โกลด์แมนแซกส์” ระบุว่า มาตรการจากรัฐบาลรวมถึงการลดดอกเบี้ยนโยบายสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจออสเตรเลียจากความเสียหายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยมาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในระยะสั้น

ทั้งนี้ การสูญเสียความหลากหลายทางทรัพยากรและการสูญเสียพื้นที่ป่าจำนวนมาก ซึ่งทำให้ออสเตรเลียต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เลวร้ายยิ่งขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลโดยตรงต่อภาคการเกษตร อีกทั้งประชาชนออสเตรเลียยังต้องเผชิญปัญหาทางสุขภาพในระยะยาวจากมลพิษซึ่งส่งผลต่อคุณภาพแรงงาน

โดย “คณะกรรมการภูมิอากาศออสเตรเลีย” ออกรายงานประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาวระบุว่า จากเหตุการณ์ไฟป่าในปัจจุบัน

ส่งผลให้ออสเตรเลียสูญเสียประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตรและแรงงานถึง 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2030 โดยตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 144,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2050 และ 2.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2100

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่กำลังบอบช้ำ ขณะที่การฟื้นฟูผลกระทบระยะยาว เช่น การเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ จำเป็นต้องใช้เวลาและเม็ดเงินจำนวนมาก

นอกจากนี้ การลงทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายดังกล่าวยังทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสอีกด้วย ซึ่งเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุสำคัญของภัยพิบัติครั้งนี้ “เอบีซี นิวส์” รายงานว่าออสเตรเลียเผชิญกับความแห้งแล้งที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ไฟป่าลุกลามเป็นวงกว้าง โดยค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิเมื่อปี 2019 อยู่ที่ 31.52 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยตั้งแต่ปี 1961-1990 ถึง 1.52 องศาเซลเซียส และทุบสถิติของอุณหภูมิเฉลี่ยเมื่อปี 2013 ที่ 30.19 องศาเซลเซียส ขณะที่ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2019 อยู่ที่ระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 277.63 มิลลิเมตร ทำลายสถิติของปี 1902 ที่ระดับ 314.46 มิลลิเมตร

ดังนั้น รัฐบาลทั่วโลกควรเรียนรู้บทเรียนจากออสเตรเลียและร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน