เปิดคำแถลงการณ์ WHO ทำไมยกระดับ ’ไวรัสอู่ฮั่น’ เป็น ’ภาวะฉุกเฉินระดับโลก’

เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินครั้งที่ 2 ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ในประเด็นการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ที่มีจุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินของ WHO เป็นการจัดประชุมภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) โดยคณะกรรมการมีบทบาทในการให้คำแนะนำแก่ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้ายก่อนการประกาศให้สถานการณ์ไวรัสอู่ฮั่นเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) โดยคณะกรรมการจะเป็นผู้ให้คำแนะนำด้านสาธารณสุขและข้อเสนอชั่วคราวตามความเหมาะสม

การประชุมเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลังจากที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งในจีนและในต่างประเทศ โดยผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขของจีน ได้รายงานสถานการณ์ในจีนต่อคณะกรรมการว่า มีผู้ที่ได้รับการยืนยันแล้ว 7,711 ราย และผู้ที่ต้องเฝ้าระวังอีก 12,167 รายในประเทศจีน ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตล่าสุดอยู่ที่ 213 รายในประเทศจีน (ข้อมูล ณ เวลานั้น)

ขณะที่เลขาธิการ WHO รายงานตัวเลขผู้ป่วยทั่วโลกอยู่ที่ 83 ราย ใน 18 ประเทศ โดยมีเพียง 7 รายเท่านั้นที่ไม่มีประวัติเดินทางไปจีน และมีเพียง 3 กรณีที่เป็นการติดต่อแบบคนสู่คนภายนอกประเทศจีน ทั้งหมดนี้มีผู้ที่อยู่ในขั้นวิกฤติ 1 รายและยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ผลการประชุม

คณะกรรมการชื่นชมต่อความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นระดับสูงของรัฐบาลจีน ทั้งความโปร่งใสและความพยายามในการตรวจสอบและควบคุมโรคระบาดในปัจจุบัน จีนได้เปิดเผยข้อมูลไวรัสอย่างรวดเร็วและแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับไวรัส ให้ประเทศอื่นสามารถใช้วินิจฉัยและป้องกันตนเองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้มีการพัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วด้วย

จีนยังใช้มาตรการที่แข็งแกร่งในการประสานงานกับ WHO เป็นประจำทุกวัน รวมถึงร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส ทางการจีนยังใช้มาตรการสาธารณสุขในเมืองและมณฑลต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังทำการศึกษาความรุนแรงและการแพร่กระจายของไวรัส รวมถึงแบ่งปันข้อมูลและวัตถุชีวภาพ อีกทั้งยังตกลงที่จะทำงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ และมาตรการที่ดำเนินการนั้นไม่เพียงดีต่อจีน แต่ยังรวมถึงส่วนอื่น ๆ ของโลกด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการรับรองบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาของ WHO และพันธมิตร และคณะกรรมการยังรับทราบว่า ยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมาก จากจำนวนการแพร่ระบาดที่พบใน 5 ภูมิภาคของโลกภายใน 1 เดือน และพบการติดต่อจากคนสู่คนแล้วนอกประเทศจีน

คณะกรรมการเชื่อว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะขัดขวางการแพร่กระจายของไวรัส หากประเทศต่าง ๆ มีมาตรการที่เข้มแข็งในการตรวจหาโรคแต่เนิน ๆ รวมถึงการคัดแยก การรักษา การติดตามต่อเนื่อง และการส่งเสริมมาตรการทางสังคมที่สอดคล้องกับความเสี่ยง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทราบว่าขณะนี้สถานการณ์ยังคงรุนแรงขึ้น ดังนั้นต้องมีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์และมาตรการเพื่อป้องกันและลดการแพร่กระจายของไวรัส

คณะกรรมการเห็นพ้องว่า การแพร่ระบาดในขณะนี้เป็นไปตามเกณฑ์ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) เพื่อเป็นการสนับสนุนและชื่นชมรัฐบาลและประชาชนจีน ในการเผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งนี้ด้วยความโปร่งใสและมุ่งมั่น เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นปึกแผ่นของโลก คณะกรรมการเห็นว่าจำเป็นต้องมีการประสานงานระดับโลก เพื่อสร้างเตรียมพร้อมในภูมิภาคอื่นของโลกที่อาจต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม และคณะกรรมการได้ให้คำแนะนำชั่วคราวดังนี้

คำแนะนำของคณะกรรมการฉุกเฉินต่อ WHO

  • คณะกรรมการพร้อมร่วมมือกับคณะผู้แทนด้านเทคนิคของ WHO ที่กำลังจะเดินทางไปยังประเทศจีน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อภารกิจสนับสนุนความพยายามในการตรวจสอบสัตว์ที่เป็นแหล่งที่มาของโรคระบาด ปัจจัยที่นำไปสู่การติดต่อและความรุนแรงของโรค ขอบเขตของการติดต่อจากคนสู่คนทั้งในที่สาธารณะและในสถานพยาบาล และวิธีการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งภารกิจดังกล่าวจะถูกแบ่งปันให้กับประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบ รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์และมาตรการที่ประสบความสำเร็จ
  • คณะกรรมการเน้นย้ำความสำคัญของการศึกษาแหล่งที่มาของโรคที่เป็นไปได้ เพื่อแสวงหาต้นกำเนิดของโรคที่ซ่อนอยู่ เพื่อทำการควบคุมและจัดการความเสี่ยง
  • คณะกรรมการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเฝ้าระวังเพิ่มเติมในภูมิภาคอื่น นอกเหนือมณฑลหูเป่ย์ รวมถึงการสร้างความเข้าใจว่าวัฏจักรของการแพร่ระบาด
  • WHO ควรเดินหน้าการดำเนินการในเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคอย่างต่อเนื่อง เพื่อแนะนำวิธีการที่ดีที่สุดในการรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้
  • WHO ควรให้การสนับสนุนในการเตรียมพร้อมและตอบสนองอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะในประเทศและภูมิภาคที่มีช่องโหว่
  • รวมถึงดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วและการเข้าถึงวัคซีน การวินิจฉัย ยาต้านไวรัส และการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง
  • WHO ควรให้การสนับสนุนทางเทคนิคและการดำเนินการที่จำเป็นต่อไป รวมถึงร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรและสถาบันต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคและการสร้างความเข้าใจในการรับมือกับความเสี่ยง และเพื่อความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้
  • WHO ควรทบทวนความเหมาะสมของการประกาศเตือนในระดับกลางระหว่างภาวะที่เข้าเกณฑ์ PHEIC กับที่ไม่เข้าเกณฑ์ PHEIC ในลักษณะที่ไม่ต้องมีการเปิดกาเจรจาใหม่ตาม IHR
  • WHO ควรตรวจสอบสถานการณ์ด้วยความโปร่งใสและปรับปรุงคำแนะนำบนพื้นฐานของหลักฐานที่มีอยู่
  • คณะกรรมการยังไม่เห็นควรให้จำกัดการเดินทางหรือการค้าใด ๆ จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
  • ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ประกาศให้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (PHEIC) และรับรองคำแนะนำของคณะกรรมการและกำหนดให้คำแนะนำนี้เป็นคำแนะนำชั่วคราวภายใต้ IHR

คำแนะนำของคณะกรรมการฉุกเฉินสำหรับจีน

  • ใช้การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในการรับมือกับความเสี่ยงอย่างครอบคลุม โดยแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดของโรคระบาด มาตรการป้องกันสำหรับประชาชน และมาตรการที่ใช้ในการควบคุม
  • ปรับปรุงมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน
  • สร้างความมั่นใจในระบบสุขภาพและการปกป้องบุคลากรสาธารณสุข
  • ปรับปรุงการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยภายในประเทศ
  • ร่วมมือกับ WHO และพันธมิตรเพื่อดำเนินการตรวจสอบเพื่อสร้างความเข้าใจกับการแพร่ระบาดและพัฒนาการของการระบาดครั้งนี้ รวมถึงมาตรการที่ใช้ในการควบคุม
  • แบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อในมนุษย์
  • ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อระบุสัตว์ที่เป็นแหล่งที่มาของเชื้อไวรัส และแบ่งปันกับ WHO ทันทีที่ทำได้
  • ดำเนินการคัดกรองทางออกที่สนามบินและท่าเรือระหว่างประเทศ เพื่อตรวจหาผู้เดินทางที่มีอาการ ในการวินิจฉัยและรักษาพยาบาลต่อไป เพื่อช่วยลดการรบกวนการคมนาคมระหว่างประเทศ

คำแนะนำของคณะกรรมการฉุกเฉินสำหรับทุกประเทศ

  • โดยการคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดจะกระจายตัวไปยังประเทศต่าง ๆ ดังนั้น ทุกประเทศควรเตรียมความพร้อมสำหรับการกักกัน รวมถึงการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด การค้นหา การคัดแยก การจัดการผู้ป่วยแต่ละกรณี การติดตามผลต่อเนื่อง และการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่า โดยแบ่งปันข้อมูลให้กับ WHO และปฏิบัติตามคำแนะนำที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของ WHO
  • ทุกประเทศจะต้องแบ่งปันข้อมูลให้กับ WHO ตาม IHR
  • การตรวจพบไวรัสในสัตว์ (รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบสายพันธุ์และทดสอบโรค และข้อมูลระบาดวิทยาที่เกี่ยวข้อง) ควรรายงานไปยังองค์การโลกเพื่อสุขภาพสัตว์ (OIE) ในฐานะโรคใหม่
  • ทุกประเทศควรให้ความสำคัญในการลดการติดต่อในมนุษย์ ป้องกันการแพร่กระจายต่อและการแพร่กระจายข้ามพรมแดน และมีส่วนร่วมในการดำเนินการระดับโลก ผ่านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วนและการมีส่วนร่วมในการเพิ่มความรู้เกี่ยวกับไวรัส
  • ทุกประเทศจะต้องแจ้งต่อ WHO ให้ทราบถึงมาตรการการเดินทางตามที่ IHR กำหนด แต่ควรระมัดระวังการใช้มาตรการที่เหมารวมหรือเลือกปฏิบัติตามมาตรา 3 ของ IHR
  • คณะกรรมการฉุกเฉินขอให้ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ และหากจำเป็นควรให้คำแนะนำใหม่เป็นกรณีเฉพาะไป ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในขณะนี้

คำแนะนำของคณะกรรมการฉุกเฉินต่อประชาคมโลก

  • การระบาดครั้งนี้เป็นไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ที่คล้ายคลึงกันก่อนหน้านี้ได้แสดงให้ความจำเป็นอย่างยิ่งในการแบ่งปันข้อมูลและงานวิจัย ประชาคมโลกควรแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องตามมาตรา 44 ของ IHR ในการสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อแสวงหาแหล่งที่มาของไวรัส ความสามารถในการติดต่อจากคนสู่คน การเตรียมพร้อมสำหรับการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้น และการิจัยและพัฒนาวิธีการรักษาที่จำเป็น
  • ให้การสนับสนุนแก่ประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เพื่อให้สามารถรับมือต่อเหตุการณ์ และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวินิจฉัย วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และการบำบัดรักษา
  • ภายใต้มาตรา 43 ของ IHR ประเทศสมาชิกที่ดำเนินมาตรการด้านสุขภาพ ซึ่งรบกวนการคมนาคมระหว่างประเทศ จะต้องแจ้งเหตุผลด้านสาธารณสุขแก่ WHO ภายใน 48 ชั่วโมง โดย WHO จะตรวจสอบและอาจขอให้ประเทศต่าง ๆ พิจารณามาตรการของประเทศที่บังคับใช้ และ WHO ต้องแบ่งปันข้อมูลมาตรการและเหตุผลให้กับประเทศสมาชิกอื่น ๆ
  • คณะกรรมการฉุกเฉินจะประชุมกันอีกครั้งภายใน 3 เดือนหรือเร็วกว่านั้น ภายใต้ดุลยพินิจของผู้อำนวยการใหญ่ WHO