“ตะวันออกกลาง” นำเข้าอาวุธพุ่งมหาอำนาจมุ่งแย่งมาร์เก็ตแชร์

ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นหลายแห่งทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดค้าอาวุธเติบโตอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสำนักควบคุมอาวุธฯ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ พบว่า เมื่อปี 2017 ทั่วโลกมีการซื้อขายอาวุธราว 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มีการประเมินว่าปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายอาจพุ่งขึ้นมากกว่า 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี

จากข้อมูลของ สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (เอสไอพีอาร์ไอ) พบว่าตลาดการซื้อขายอาวุธมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1980-2000 อย่างไรก็ตาม หลังปี 2000 เป็นต้นมา การซื้อขายอาวุธทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้างอิงงานวิจัยจากหน่วยงานดังกล่าวระบุว่า ช่วงเวลาปี 2015-2019 การซื้อขายอาวุธทั่วโลกเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาระหว่างปี 2010-2015 โดยประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่ครองตลาด ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย 

ทั้งนี้ ตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่นำเข้าอาวุธมากที่สุดในโลก ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเผยว่ามีการนำเข้าสัดส่วน 35% ของการนำเข้าทั่วโลก อีกทั้งระหว่างปี 2015-2019 การนำเข้าของภูมิภาคยังมีอัตราเติบโตถึง 61% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2010-2015 จึงกล่าวได้ว่าตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีอัตราเติบโตสูงเป็นที่น่าดึงดูดสำหรับผู้ค้าอาวุธทั่วโลก แต่ว่าตลาดแห่งนี้ถูกผูกขาดโดยอาวุธจากสหรัฐและยุโรป 

ด้วยตลาดขนาดใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็วย่อมเป็นที่น่าดึงดูดต่อผู้ค้าอาวุธรายอื่น  ๆ โดยเฉพาะ “รัสเซีย” ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก แต่ประสบปัญหามูลค่าการส่งออกอาวุธกลับลดลงถึง 18% เนื่องจากอินเดียและประเทศแถบแอฟริกาซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญลดปริมาณการซื้อ รัสเซียจึงหันมามองตลาดตะวันออกกลางแทน 

อย่างไรก็ตาม รายงานจากสถาบันตะวันออกกลางศึกษา หน่วยงานวิจัยซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า เมื่อปี 2019 ภูมิภาคตะวันออกกลางนำเข้าอาวุธจากรัสเซียสัดส่วนเพียง 10% ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่มีสัดส่วนมากกว่า 60% ทั้งนี้ การเจาะตลาดของรัสเซียเผชิญกับความยากลำบาก เนื่องจากผู้นำเข้าเหล่านี้เป็นพันธมิตรสหรัฐ

ดังนั้น รัสเซียจึงต้องเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับหลายประเทศของภูมิภาคเพื่อเปิดทางไปสู่การขายอาวุธ โดย
ซีเอ็นบีซีรายงานอ้างสำนักข่าวท้องถิ่นของรัสเซีย ระบุว่า เมื่อปี 2017 “อเล็กซานเดอร์ โฟมิน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้หารือกับเจ้าหน้าที่กลาโหมของซาอุฯและได้ออกมาประกาศผ่านเว็บไซต์กระทรวงกลาโหมรัสเซียว่า “ซาอุฯต้องการซื้อยุทโธปกรณ์จากรัสเซีย” 

ขณะที่ “จีน” ซึ่งปัจจุบันเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารของโลก แม้ว่าจะมีสัดส่วนการส่งออกอาวุธเพียง 5.5% แต่กำลังเคลื่อนไหวโดยเริ่มเข้าไปเปิดตลาดตะวันออกกลางมากขึ้น โดยเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า บริษัทอุตสาหกรรมการต่อเรือแห่งประเทศจีน (ซีเอสไอซี) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจต่อเรือบรรทุกเครื่องบินรบของจีน ได้ประกาศเปิดสำนักงานตัวแทนที่ดูไบ เมื่อ ก.พ. 2019 เพื่อขยายตลาดสู่ภูมิภาค 

ทั้งนี้ ความขัดแย้งของภูมิภาคตะวันออกกลางคาดว่ายังคงยืดเยื้ออีกยาวนาน ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจมหาศาลสำหรับพ่อค้าอาวุธ