“แอฟริกา” ท่ามกลางโควิด เวทีชิงอิทธิพล “จีน-อินเดีย”

(AP Photo/Brian Inganga)

“แอฟริกา” เป็นภูมิภาคที่หลายฝ่ายเฝ้าระวังเป็นพิเศษท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากภาวะยากจนของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) กังวลว่า แอฟริกาอาจกลายเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดแห่งใหม่ของโลก แต่การที่ภูมิภาคแอฟริกามีประเทศเป็นจำนวนมากและประชากรอีกกว่า 1,200 ล้านคน ทำให้ชาติมหาอำนาจเอเชียอย่าง “จีนและอินเดีย” มองเห็นโอกาสในการขยายอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจมาโดยตลอด และจะเข้มข้นยิ่งขึ้นนับจากภาวะโรคระบาดในครั้งนี้

นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศในแอฟริกา จากผลกระทบภัยพิบัติต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

อย่างล่าสุดเมื่อ 12 มี.ค. 2020 รัฐบาลอินเดียได้มอบข้าว 600 ตันช่วยเหลือมาดากัสการ์ที่ประสบเหตุอุทกภัย รวมทั้งเวชภัณฑ์และยารักษาโรคอีกจำนวนมาก และเมื่อปี 2019 อินเดียยังส่งมอบความช่วยเหลือทางการแพทย์ไปยังโมซัมบิกที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนด้วย

แอฟริกาเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของทั้งจีนและอินเดีย ข้อมูลของหน่วยงานพาณิชย์ของสหรัฐ ระบุว่า ในปี 2017 มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนของ 39 ประเทศแอฟริการวมสูงถึง 71,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจากอินเดียก็สูงถึง 21,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทูตระหว่างจีนและแอฟริกาเริ่มตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 โดยรัฐบาลจีนให้การรับรองและส่งเสริมการพัฒนาประเทศเกิดใหม่ในแอฟริกาหลายประเทศ ทั้งอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลผ่านเงินกู้และโครงการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งถนน สนามกีฬา โรงพยาบาล และโรงเรียนในหลายประเทศแอฟริกา รวมถึงโครงการสร้างเส้นทางรถไฟข้ามทวีปด้วย

ข้อมูลของ สถาบันวิจัยจีน-แอฟริกาของมหาวิทยาลัยจอห์นสฮอปกินส์ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2000-2017 รัฐบาล ธนาคาร และเอกชนของจีนปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจกลุ่มประเทศแอฟริการวมสูงถึง 143,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ความสนใจต่อแอฟริกาของอินเดียเพิ่มสูงขึ้นมาก หลังจากที่ นายนเรนทรา โมดี ผู้นำพรรคชาตินิยม ฮินดู ภารติยะ ชนะตะ ชนะเลือกตั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดียในปี 2014 ก็ได้เริ่มหันไปขยายอิทธิพลในประเทศแถบมหาสมุทรอินเดียตะวันตกอย่างจริงจัง ในฐานะพื้นที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์เพื่อคานอำนาจกับจีนที่กำลังแผ่อิทธิพลในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

รัฐบาลอินเดียได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนอย่างค่ายรถยนต์ “ทาทามอเตอร์ส” และมหินทราแอนด์มหินทรา ยักษ์โทรคมนาคม ภารตีแอร์เทล และบริษัทผู้นำด้านเภสัชกรรมซิบลา เข้าไปร่วมมือทางธุรกิจและถ่ายทอดทักษะความรู้ในกลุ่มประเทศแอฟริกา

แม้ว่าอินเดียจะไม่มีเม็ดเงินมหาศาล สำหรับนโยบายการต่างประเทศเท่าจีน แต่ได้อาศัยความร่วมมือกับประเทศอื่น อย่างเช่น โครงการระเบียงแห่งการเติบโตเอเชีย-แอฟริกา (เอเอจีซี) ที่อินเดียร่วมกับญี่ปุ่นลงทุนก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในประเทศตามแนวมหาสมุทรอินเดีย เพื่อลดอิทธิพลของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งทาง (บีอาร์ไอ) ของจีน

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 “อินเดีย” ก็ต้องเผชิญความยากลำบากในการรับมือกับโรคระบาดในประเทศ ด้วยมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมประชากรจำนวนมหาศาลให้อยู่ในที่พักอาศัย แต่เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียยังประกาศจะจัดหาและส่งมอบยารักษาโรคช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

ขณะที่จีนซึ่งดูเหมือนว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศได้แล้ว ก็กำลังส่งมอบความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศแอฟริกาที่มีความสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจและทางการทูตอย่างเหนียวแน่น โดยจีนได้ส่งมอบความช่วยเหลือทางการแพทย์มายังแอฟริกา อย่างการบริจาคชุดตรวจหาเชื้อไวรัส จากอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างอาลีบาบา

ด้านรัฐบาลจีนก็ได้ส่งมอบชุดป้องกันโรค หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปจนถึงการแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับไวรัสและประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของจีนให้กับประเทศในแอฟริกาอย่างมหาศาลด้วย

นายเกิง ชวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่า “ในช่วงที่ยังคงต้องมีมาตรการควบคุมโรค เราจะแบ่งปันทุกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับโรคระบาดให้กับประเทศแอฟริกา และจะให้การช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศและองค์กรระดับภูมิภาคอย่างสุดความสามารถ”

ศาสตราจารย์ปันกาจ จาห์ แห่งมหาวิทยาลัยโอพี จินดาล โกลบอลของอินเดีย วิเคราะห์ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลจีนถูกตั้งคำถามว่า ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กลุ่มประเทศแอฟริกามีความสำคัญมากขึ้นในฐานะเสียงสนับสนุนของจีน ในกรณีที่มีการอภิปรายเรื่องดังกล่าวในการประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อไม่ให้จีนตกเป็นจำเลยของโลกมากเกินไป

ด้าน นายราหุล คาชัป นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์จีน-อินเดีย ระบุว่า การแข่งขันกันขยายอิทธิพลในแอฟริการะหว่าง “จีนและอินเดีย” จะเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจโลกถดถอยลงจากสถานการณ์โควิด-19

เนื่องจากประเทศยากจนในแอฟริกาหลายประเทศ เริ่มตระหนักถึงอิทธิพลที่สูงขึ้นพร้อมกับดักหนี้ของจีนที่หลุดพ้นได้ยาก ซึ่งอาจส่งผลให้อินเดียสามารถดึงดูดพันธมิตรในแอฟริกาได้มากขึ้นหลังจบวิกฤตครั้งนี้ ขณะที่จีนก็คงไม่ยอมโดยง่ายเช่นกัน