‘ไอบีเอ็ม’ ยุติพัฒนา-จำหน่ายเอไอ ‘จดจำใบหน้า’ ชี้แฝงอคติเหยียดสีผิว

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า “ไอบีเอ็ม” บริษัทผู้ผลิตและให้บริการคอมพิวเตอร์ระดับโลกประกาศยุติการจัดจำหน่ายและการพัฒนา “เทคโนโลยีจดจำใบหน้า” (facial recognition) ของบริษัท รวมถึงเรียกร้องรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาหยิบยกเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การอภิปรายอย่างเร่งด่วน เพื่อปฏิรูปกฎหมายควบคุมการใช้งานเทคโนโลยีนี้โดยเจ้าหน้าที่ ให้ปราศจากการเหยียดสีผิวและเป็นธรรมทางเชื้อชาติ

โดยนายอาร์วินด์ คริชนา ซีอีโอของไอบีเอ็มได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐสภาสหรัฐระบุว่า บริษัทต้องการทำงานร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อหารือถึงแนวทางด้านกฎหมายในการสร้างความเป็นธรรมและความเหมาะสมในการใช้งานเทคโนโลยีจดจำใบหน้า รวมถึงการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม

การตัดสินใจของไอบีเอ็มที่จะยุติธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจดจำใบหน้าครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการประท้วงที่ยังคงลุกลามบานปลายจากกรณีของนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวผิวสีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่งผลให้ประเด็นเรื่องปฏิรูปองค์กรตำรวจของสหรัฐ และการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเชื้อชาติสีผิวกลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ

ขณะที่ กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ต่ออคติที่แฝงอยู่ในเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามีมาโดยตลอด โดยข้อมูลงานวิจัยของ “จอย โบโอแลมวินี” นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผู้ก่อตั้งสมาคมอัลกอริทึมมิกจัสติซ (Algorithmic Justice League) ระบุว่า เทคโนโลยีดังกล่าวของบางบริษัทแสดงให้เห็นถึงอคติทางเชื้อชาติสีผิวและอคติทางเพศอย่างชัดเจน ซึ่งคนบางกลุ่มเห็นว่า ไม่ควรจำหน่ายเทคโนโลยีนี้ให้กับหน่วยภาครัฐ เพื่อรักษาความปลอดภัยของความเป็นส่วนตัวและสิทธิพลเมือง

จดหมายของนายคริชนาระบุว่า “ไอบีเอ็มคัดค้านและไม่ยินยอมให้มีการใช้เทคโนโลยีใด ๆ รวมถึงเทคโนโลยีจดจำใบหน้า เพื่อการสอดแนมประชาชน การเหยียดเชื้อชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยม หลักการความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสของเรา เราเชื่อว่าขณะนี้เป็นวาระแห่งชาติที่จะเริ่มอภิปรายในประเด็นว่า ควรใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหรือไม่และอย่างไร”

นายคริชนาเข้ารับตำแหน่งซีอีโอของไอบีเอ็มในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบคลาวด์เซอร์วิสของบิรษัทมากขึ้น แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ สำหรับการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากในสำนักงานด้วย โดยขณะนี้บริษัทมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 135,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าธุรกิจเทคโนโลยีจดจำใบหน้าจะไม่ใช่ธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับไอบีเอ็มมากนัก แต่การตัดสินใจครั้งนี้ก็สร้างความตื่นตัวในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเชื้อชาติให้กับรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไอบีเอ็ม

“ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เป็นเครื่องมืออันทรงพลัง ที่สามารถช่วยให้ผู้บังคับใช้กฎหมายดำเนินการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผู้จำหน่ายและผู้ใช้งานระบบเอไอมีความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการทดสอบอคติที่แฝงอยู่ในระบบเอไอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประยุกต์ใช้กับการบังคับใช้กฎหมาย โดยจะต้องมีการตรวจสอบและเปิดเผยผลการทดสอบอคติดังกล่าวด้วย” นายคริชนาระบุในจดหมาย