นักวิจัยสหรัฐ เผยเดินทางไปสำรวจ “ดาวอังคาร” เหมือนการ “ฆ่าตัวตาย”

NASA

ทีมวิจัยนำโดย แฟรงค์ คูซินอตตา และเอลีดอนนา คาเคา 2 นักวิทยาศาสตร์สุขภาพประจำมหาวิทยาลัยเนวาดา ลาส เวกัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งอาศัยการตรวจทานและวิเคราะห์ผลงานวิจัยว่าด้วยผลกระทบของรังสีคอสมิกในหนูทดลอง 4 ชิ้นก่อนหน้านี้เสียใหม่ พบว่า อันตรายของการเดินทางไปตั้งอาณานิคม หรือแม้แต่การส่งมนุษย์ไปสำรวจพื้นผิวดาวอังคารนั้นสูงกว่าที่ประเมินกันไว้เดิมถึง 2 เท่าตัว โดยอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

คอสมิกเรย์ หรือรังสีคอสมิก คืออนุภาคในระดับอะตอมหรือเล็กกว่าอะตอมที่ประจุด้วยพลังงานสูงมากซึ่งเกิดจากการระเบิดของดาวฤกษ์, หลุมดำ หรือแหล่งพลังงานอานุภาพสูงอื่นๆ ในจักรวาล พุ่งไปทุกทิศทุกทางด้วยความเร็วสูง รังสีคอสมิกสามารถทำให้ดีเอ็นเอเสียหาย เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ส่งผลให้เกิดต้อที่อาจรุนแรงถึงตาบอด ทำลายระบบประสาทให้ได้รับความเสียหาย ก่อปัญหากับระบบการไหลเวียนโลหิต และสร้างปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ อีกมาก

คนบนโลกไม่รู้สึกถึงรังสีคอสมิกนี้ เพราะบรรยากาศของโลกดูดซับส่วนใหญ่ของมันไว้ ในขณะที่สนามแม่เหล็กโลกก็ทำให้รังสีส่วนใหญ่หักเหหรือสะท้อนกลับไปในอวกาศ ช่วยให้มนุษย์อวกาศในสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ไม่ต้องอาบรังสีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไปยังดาวอังคาร เช่นเดียวกับการอยู่บนพื้นผิวดาวอังคารที่สนามแม่เหล็กสลายไปหมดแล้วเมื่อหลายพันล้านปีก่อน

งานวิจัยในหนูทดลองที่ผ่านมา เพียงพิจารณาผลกระทบโดยตรงของรังสีคอสมิกต่อเซลล์ แต่ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเนวาดายังตรวจสอบเพิ่มไปถึงผลกระทบต่อเนื่องจากผลกระทบดังกล่าว และพบว่าเมื่อเซลล์ได้รับรังสีคอสมิก ตัวเซลล์ไม่เพียงเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งเท่านั้น ยังส่งสัญญาณทางเคมีไปยังเซลล์อื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เซลล์ที่ได้รับสัญญาณกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งตามไปด้วย

“โดมิโนเอฟเฟ็กต์” ของเซลล์ดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ความเสี่ยงของการเดินทางไปสำรวจดาวอังคารเพิ่มขึ้นจากที่เคยคิดไว้ถึง 2 เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลายฝ่ายเร่งมือพัฒนาแนวทางป้องกันปัญหานี้ อาทิ บริษัทในอิสราเอลที่กำลังพัฒนาชุดสูทปิดทั้งตัวซึ่งสามารถดูดซับรังสีได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ก็เสนอแนวคิดส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบดาวอังคารเพื่อ “สร้างสนามแม่เหล็กเทียม” ขึ้นด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้การสำรวจดาวอังคารเป็นเหมือนการ “ฆ่าตัวตาย” นั่นเอง

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์ ภาพจาก: NASA