ไทม์ไลน์วิกฤตเลบานอน : จากเหตุระเบิดสู่การลาออกของรัฐบาล

เหตุระเบิดรุนแรง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทำให้เลบานอนก้าวไปสู่จุดแตกหัก นำไปสู่การลาออกของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นายฮัสซัน ดิอาบ

วันที่ 10 สิงหาคม 2563 อัลจาซีร่า รายงานว่า นายกรัฐมนตรีเลบานอนได้ประกาศการลาออกของรัฐบาลภายใต้การนำของเขา ในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ หลังเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ ที่สร้างความเสียหายรุนแรงให้กับกรุงเบรุต เป็นเหตุให้สาธารณชนเกิดความไม่พอใจอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เหตุระเบิดที่ท่าเรือในกรุงเบรุต เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม มีผู้เสียชีวิตประมาณ 200 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 6,000 คน ขณะที่ความโกรธแค้นต่อเหตุการณ์แพร่กระจายไปทุกหัวระแหง ตามท้องถนนมีคนหลายพันคนออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่

สำหรับชาวเลบานอนทั่วไป การระเบิดครั้งนี้เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายในวิกฤตที่ยืดเยื้อจากการล่มสลายของเศรษฐกิจ การทุจริตคอร์รัปชั่น การผลาญทำลายประเทศ และการปกครองที่ไร้ประสิทธิภาพ

เมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น นายฮัสซัน ดิอาบ ได้ลาออกพร้อมกับคณะรัฐมนตรีของเขา โดยกล่าวว่า เหตุระเบิดเป็นผลมาจากการคอรัปชั่นที่เรื้อรังในเลบานอน

ต่อไปนี้คือไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

4 สิงหาคม 2563

มีรายงานไฟไหม้ที่ท่าเรือในกรุงเบรุต ก่อนจะเกิดการระเบิดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพังและถูกนำร่างขึ้นมาในเวลาต่อมา เหตุระเบิดยังได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและอาคารต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง และที่ห่างออกไปหลายกิโลเมตร

ขณะที่ผู้คนประมาณ 3 แสนคน กลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย ส่วนความเสียหายในเมืองอยู่ที่หลายพันล้านดอลลาร์

5 สิงหาคม 2563

นายดิอาบ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ในกรุงเบรุต โดยให้อำนาจทหารอย่างเต็มที่ ในการแก้ปัญหาสิ่งที่เป็นอุบัติเหตุที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของเลบานอน

สภาป้องกันสูงสุดของเลบานอน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นการรวมตัวของประธานาธิบดีและหน่วยงานด้านความมั่นคงที่สำคัญทั้งหมด ประกาศให้กรุงเบรุตเป็นเมืองประสบภัยพิบัติ

นายดิอาบ เผยว่า ท่าเรือดังกล่าวมีแอมโมเนียมไนเตรทเกือบ 3 พันตัน ที่ถูกเก็บไว้เป็นเวลานาน 6 ปี หลังจากเรือลำหนึ่งนำมา เมื่อปี 2556

6 สิงหาคม 2563

นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้เดินทางมายังที่เกิดเหตุ พร้อมให้สัญญาว่าจะจัดการประชุมระหว่างประเทศกับสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และประเทศในภูมิภาค เพื่อรวบรวมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นอย่างยิ่ง

นายมาครงยังเตือนด้วยว่า หากปราศจากการปฏิรูปและการดำเนินการต่อต้านคอร์รัปชั่น เลบานอนอาจขาดแคลนเชื้อเพลิงและอาหารภายในเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งจะถือเป็นความผิดของผู้ที่ปฏิเสธการแก้ปัญหาในวันนี้

REUTERS/File Photo

การประท้วงเริ่มลุกลามไปทั่วเลบานอน ผู้ประท้วงโกรธแค้นและเรียกร้องให้มีการ “แก้แค้น” ต่อเหตุระเบิดที่รุนแรง

ขณะเดียวกัน นายฟาดิ อกิกิ ผู้พิพากษา ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลในศาลทหาร กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ท่าเรือ 16 คน ถูกจับกุม จากเหตุการณ์ดังกล่าว

7 สิงหาคม 2563

ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดเพิ่มขึ้นเป็น 157 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 5 พันคน ตามรายงานของเจ้าหน้าที่เลบานอน

นายบอริส โปรโคเชฟ อดีตกัปตันเรือที่นำแอมโมเนียมไนเตรทเกือบ 3 พันตัน มายังท่าเรือ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เลบานอนตระหนักดีถึงอันตรายที่เกิดจากเรือบรรทุกสินค้าลำนี้

สหภาพยุโรปปล่อยเงินกู้ 33 ล้านยูโร (ราว 1,200 ล้านบาท) ให้แก่เลบานอน เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายและบริการฉุกเฉินในทันที

8 สิงหาคม 2563

นายกรัฐมนตรีดิอาบ เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนด โดยกล่าวว่า เป็นทางออกเดียวของวิกฤตในประเทศ โดยบอกว่าจะเสนอร่างพระราชบัญญัติเลือกตั้งก่อนกำหนด

พรรคคาเทฟ ซึ่งเป็นกลุ่มคริสเตียนที่ต่อต้านรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ได้ประกาศการลาออกจากรัฐสภาของ 3 สมาชิกพรรค

ผู้ประท้วงบุกโจมตีสถานที่ราชการในกรุงเบรุต ซึ่งรวมถึงกระทรวงต่างประเทศ ขณะที่ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม

ประชาชนมากกว่า 700 คน ได้รับบาดเจ็บจากการประท้วง และมีตำรวจ 1 นาย เสียชีวิต

9 สิงหาคม 2563

ผู้นำหลายประเทศเข้าร่วมการประชุมผู้บริจาค ซึ่งมีฝรั่งเศสกับสหประชาชาติเป็นหัวหอกการประชุม ที่ประชุมให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เลบานอนเป็นเงินเกือบ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 9,337 ล้านบาท) โดยจะส่งมอบเงินตรงถึงชาวเลบานอน

นางมานัล อับเดล รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศเลบานอน ยื่นลาออก โดยกล่าวว่า ประเทศเดินทางมาถึงจุดที่ไม่สามารถเดินถอยกลับได้ และบอกด้วยว่า รัฐบาลของนายดิอาบล้มเหลวในการดำเนินการตามความคาดหวังของประชาชน

REUTERS/File Photo

เธอกลายเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีคนแรกที่ลาออกจากโศกนาฏกรรมนี้ ก่อนที่วันต่อมา นายดาเมียนอส คัตตาร์ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม จะลาออกจากตำแหน่งอีกคน

10 สิงหาคม 2563

อิหร่าน กล่าวว่า ประเทศอื่นๆ ควรละเว้นการนำเรื่องเหตุระเบิดในกรุงเบรุตมาเป็นประเด็นโจมตีทางการเมืองต่อเลบานอน พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเลบานอน

ผู้อำนวยการหน่วยงานด้านอาหารของสหประชาชาติ กล่าวว่า เขารู้สึกกังวลอย่างยิ่งว่าเลบานอนอาจจะขาดแคลนอาหาร ภายในเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ เนื่องจากธัญพืช 85% ของประเทศ มาจากท่าเรือที่ได้รับความเสียหายในกรุงเบรุต

ก่อนจะหมดวัน นายดิอาบได้ประกาศการลาออกของรัฐบาลระหว่างการแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ โดยเขากล่าวว่า เขาจะถอยออก เพื่อจะได้ยืนหยัดร่วมกับประชาชน และต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงร่วมกับประชาชน

REUTERS/Mohamed Azakir

นายมิเชล อูน ประธานาธิบดีเลบานอน ยอมรับการลาออก พร้อมขอให้นายดิอาบดำรงตำแหน่งผู้ดูแลรัฐบาลชั่วคราว จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่