ความเสี่ยงตลาดการเงิน ‘อินโดนีเซีย’ หลังแบงก์ชาติใช้มาตรการ ‘คิวอี’

เงิน อินโดนีเซีย
ADEK BERRY / AFP

มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เป็นนโยบายทางการเงินที่ธนาคารกลางของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะนำมาใช้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรง อย่างไรก็ตาม หลังการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มาตรการ “คิวอี” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงของประเทศมหาอำนาจอีกต่อไป โดยประเทศกำลังพัฒนาอย่างแอฟริกาใต้ หรือโคลอมเบีย ต่างก็ได้พิมพ์เงินออกมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจ

ทว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่ทำมาตรการ “คิวอี” ขนานใหญ่อีกรายก็คือ “อินโดนีเซีย” โดย “จาการ์ตาโกลบ” รายงานอ้างคำกล่าวของ “เพอร์รี่ วาร์จีโย” ผู้ว่าการธนาคารกลาง เมื่อ 29 เม.ย. 2020 ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทางแบงก์ชาติได้ดำเนินมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรไปแล้วกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อ 6 ก.ค. 2020 แบงก์ชาติอินโดนีเซียยังประกาศพิมพ์เงินอีก 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และเพื่อรองรับการจัดทำงบประมาณขาดดุลในปี 2020 ที่สูงถึง 6.34% ต่อจีดีพี

บลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลของ “โจโก วิโดโด” จะเปิดเผยรายละเอียดงบประมาณประจำปี 2021 ภายใน 14 ส.ค. 2020 ซึ่งจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ คาดว่าจะส่งผลให้อินโดนีเซียต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลอีก 5.2% ต่อจีดีพีสำหรับปีงบประมาณหน้า และแบงก์ชาติอินโดนีเซียยังจะต้องพิมพ์เงินออกมาเพิ่มเพื่อรองรับการจัดทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งคำถามก็คือ จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจของอินโดนีเซียอย่างไร

ขณะที่การทำคิวอีของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะสร้างความกังวลทางด้าน “เงินเฟ้อ” เป็นหลัก แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนายังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารกลางจากรัฐบาล รวมถึงจะทำให้ค่าเงินของประเทศดังกล่าว “ลดมูลค่าลง” ปัจจัยเหล่านี้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะต่างประเทศที่ต้องคำนึงถึง “ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน” ซึ่งส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนอย่างมีนัย

จากข้อมูลของ “มูดีส์ฯ” บริษัทเครดิตเรตติ้งชั้นนำของโลก พบว่านักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาล “อินโดนีเซีย” สัดส่วนกว่า 38% ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติเทขายออกมา จะทำให้ตลาดการเงินเกิดความโกลาหล


นอกจากนี้ การไหลออกของเงินทุนยังทำให้ค่าเงินรูเปียห์อ่อนตัวลง ซึ่งจากข้อมูลของ “เอส แอนด์ พี” ระบุว่า หนี้สินภาคเอกชนและรัฐบาลของอินโดนีเซียสัดส่วนกว่า 40% อยู่ในรูปของสกุลเงินตราต่างประเทศ โดยนับตั้งแต่ 10 มิ.ย.-13 ส.ค. 2020 พบว่าค่าเงินของอินโดนีเซียอ่อนค่าลงแล้วราว 6.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นทิศทางที่ “สวนทาง” กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ ซึ่งการอ่อนค่าของเงินรูเปียห์ได้ส่งสัญญาณว่าเงินทุนกำลังไหลออกนอกประเทศอินโดนีเซีย