ระวัง! สหรัฐเผย 40 % ของผู้ป่วย “มะเร็ง” เกี่ยวพันกับการมีน้ำหนักตัวเกิน

เอเอฟพี อ้างรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาพบว่า 40 % ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 630,000 ราย มีความเกี่ยวพันกับการมีน้ำหนักตัวเกิน จึงแนะนำเน้นการป้องกัน ด้วยการควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกิน หรือเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน

เบรนด้า ฟิตเจอราล์ด ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา หรือซีดีซี(CDC ) กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ในประเทศที่มีผู้ใหญ่ 71 % หากไม่เป็นคนที่มีน้ำหนักตัวเกิน ก็เป็นคนที่เป็นโรคอ้วน ข้อมูลนี้นับเป็นเรื่องที่น่าห่วง การที่คนอเมริกันส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินกว่าที่แนะนำ กระทั่งเข้าเกณฑ์มีน้ำหนักตัวเกิน หรือเป็นโรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ผลักดันให้ผู้คนเหล่านั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคมะเร็ง ดังนั้นการควบคุมน้ำหนักตัวให้พอดี จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนสามารถทำได้ในการป้องกันโรคมะเร็ง ”

ทั้งนี้ การมีน้ำหนักตัวเกิน มีข้อมูลระบุว่าเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเนื้อร้ายถึง 13 ชนิด รวมทั้งโรคมะเร็งหลอดอาหาร,ไทรอยด์, เต้านม ,ถุงน้ำดี, กระเพาะอาหาร, ตับ, ตับอ่อน, ไต, รังไข่, มดลูก, ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

อัตราส่วนของผู้ป่วยมะเร็งที่มีน้ำหนักตัวเกิน และสัดส่วนของโรคมะเร็งที่เกี่ยวพันกับโรคอ้วนกำลังมีตัวเลขเพิ่มขึ้น สวนทางกับอัตราส่วนของผู้ป่วยมะเร็งที่มาจากสาเหตุใหม่ ซึ่งมีตัวเลขลดลงนับแต่ปี 1990

ทั้งนี้มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นมะเร็งที่มีความเกี่ยวพันกับน้ำหนักตัวเพียงชนิดเดียวที่มีตัวเลขลดลงนับแต่ปี 2548-2557 โดยลดลงคิดเป็น 23 % อันเป็นผลมาจากการตรวจพบแต่เนิ่นๆ ขณะที่มะเร็งอื่นๆทั้งหมดที่มีความเกี่ยวพันกับน้ำหนักตัว มีตัวเลขเพิ่มขึ้น 7 % ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดย 2 ใน 3 จากผู้ป่วยมะเร็งที่เกี่ยวพันกับน้ำหนักตัวที่ถูกตรวจพบในปี 2557 เป็นกลุ่มคนอายุ 50-74 ปี และเป็นผู้ป่วยหญิงราว 55 % เป็นผู้ป่วยชาย 24%

อนึ่งจากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา มีประชากรในสหรัฐราว 32.8 % ที่เข้าเกณฑ์มีน้ำหนักตัวเกิน และ 37.9 % เข้าเกณฑ์เป็นโรคอ้วน โดยภาวะที่จัดว่ามีน้ำหนักตัวเกินคือ การมีค่าดัชนีมวลกาย(Body mass index หรือ เรียกย่อว่า BMI/บีเอ็มไอ) ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป แต่ถ้ามีค่าดรรชนีมวลกาย ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เรียกว่า เป็นโรคอ้วน สูตรคำนวณหาดัชนีมวลกาย ได้แก่ การใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงที่วัดเป็นเมตรยกกำลังสอง

 

ที่มา มติชนออนไลน์