จับตาสหรัฐตะลุย ‘ทวิภาคี’ หลังตกขบวน ‘RCEP’

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

หนึ่งในความเคลื่อนไหวใหญ่ด้านเศรษฐกิจการค้าที่เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ก็คือการที่จีนกับอีก 14 ชาติในเอเชีย-แปซิฟิก ลงนาม “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” หรือ RCEP อันถือเป็นเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่สุดในโลกไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา และได้รับการจับตาจากสื่อต่างประเทศค่อนข้างมาก เนื่องจาก RCEP เกิดขึ้นจากความริเริ่มของจีน

สื่อตะวันตกบางรายถึงกับเรียกขานการลงนามการค้าเสรีใหญ่สุดในครั้งนี้ว่า “การรัฐประหารโดยจีน” เพราะว่าสร้างความได้เปรียบให้กับจีนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ โดยที่สหรัฐอเมริกาเป็นยักษ์ใหญ่เพียงหนึ่งเดียวที่ไม่ได้เข้าร่วมขบวน RCEP และพลาดโอกาสในการเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก อันเนื่องมาจากนโยบายประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ก่อนหน้านี้ที่สั่งให้สหรัฐถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ที่รัฐบาลยุค บารัก โอบามา เคยผลักดันเอาไว้เพื่อหวังคานอำนาจการค้าของจีนในเอเชีย-แปซิฟิก

บรรดานักวิเคราะห์ อาทิ เฟรเดอริก นูแมนน์ กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจเอเชียของเอชเอสบีซี ระบุว่าในเมื่อพันธมิตรสหรัฐในเอเชีย-แปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ต่างเข้าร่วมใน RCEP หมด ก็เชื่อว่าสหรัฐจะหาทางชดเชยด้วยการเร่งเจรจาทำความตกลงแบบทวิภาคีกับประเทศที่เป็นสมาชิก RCEP เพื่อเป็นการ “เปิดประตู” เชิญชวนและต้อนรับเอาไว้นั่นเอง เพราะที่ผ่านมาสหรัฐมีความตกลงการค้าทวิภาคีกับ 3 ประเทศใน RCEP เท่านั้นคือ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย

ฝ่ายวิจัยซิตี้แบงก์ระบุว่า RCEP เป็นทั้งการส่งสารทางการทูตและเศรษฐกิจ และอธิบายหลายสิ่งหลายอย่างท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา และความกังวลว่าโลกจะไม่โลกาภิวัตน์อีกต่อไป แต่ความสำเร็จของ RCEP ที่เกิดขึ้นช่วยอธิบายอย่างน้อย 3 ประการ 1.แสดงให้เห็นว่าเอเชียตะวันออกยังคงเปิดกว้างอย่างมากสำหรับธุรกิจ และเห็นความสำคัญของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเกี่ยวพันทางการค้าอย่างลึกซึ้ง

2.ลดการรับรู้ที่ว่าจีนกำลังมุ่งสู่ภายในมากขึ้นด้วยการเน้นตลาดหรือการบริโภคภายในประเทศ 3.เป็นการส่งสัญญาณว่า เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ บรรดาประเทศเอเชีย-แปซิฟิกไม่ต้องการเลือกข้างระหว่างสหรัฐกับจีน เห็นได้จากกรณีของ “ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้” แม้จะเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นของสหรัฐก็ยังเข้าร่วม RCEP

ความตกลง RCEP ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ แบ่งเป็นสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ บวกประเทศคู่ค้าหลักอีก 5 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ครอบคลุมประชากร 2,200 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของประชากรทั้งโลก มีขนาดจีดีพี 26.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 30% ของจีดีพีโลก มูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่าผลประโยชน์โดยตรงทางเศรษฐกิจของ RCEP ยังค่อนข้างจำกัด เมื่อเทียบกับ CPTPP ที่ดัดแปลงมาจาก TPP เพราะปัจจุบันอัตราภาษีระหว่างสมาชิก RCEP หลายประเทศต่ำอยู่แล้ว เช่นกว่า 70% ของการค้าในกลุ่มอาเซียนมีอัตราภาษี 0% การลดภาษีเพิ่มเติมภายใต้ RCEP จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลาหลายปีกว่าจะดำเนินการได้เต็มรูปแบบ

แต่ความตกลงขนาดใหญ่เช่นนี้ ได้วางรากฐานสำหรับการร่วมมือกันลึกซึ้งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะระหว่างประเทศสมาชิกที่ยังไม่เคยทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีระหว่างกันมาก่อน โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการจับคู่ทวิภาคีระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของโลกตามลำดับ หรืออาจเป็นการจับคู่ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันกำลังชำระสะสางข้อพิพาททางการค้า

สำหรับอินเดีย ที่เคยเข้าร่วมเจรจา RCEP แต่ถอนตัวไปเมื่อปีที่แล้ว เพราะเกรงว่าสินค้าราคาถูกจากจีนจะเข้าไปตีตลาดอินเดีย แต่หากดูจากข้อตกลงที่ลงนามกันไปนั้น จะเห็นว่า RCEP เปิดประตูสำหรับอินเดีย จึงมีโอกาสที่อินเดียจะกลับมา เพราะหากไม่เข้าร่วมอินเดียจะเป็นผู้สูญเสียที่สุด ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมิน ว่าหากอินเดียเข้าร่วมจะช่วยเพิ่มจีดีพีประมาณ 1.1% ภายในปี 2030