โควิดกลายพันธุ์ “อู่ฮั่น-อังกฤษ-ตัวมิงค์-ยุโรป” ต่างกันอย่างไร?

ภาพโดย Alexandra_Koch จาก Pixabay

เชื้อโคโรน่าไวรัสยังคงพัฒนากลายพันธุ์ และสร้างความเสียหายให้กับประชาชนอยู่เรื่อย ๆ

กระแสโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดทั่วโลก ได้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิทยาศาสตร์ ต่างหาวิธีการรับมือการระบาดของโรค

อย่างไรก็ตาม เชื้อ “ไวรัสโคโรน่า” ที่ทำให้ก่อโรค “โควิด-19” ได้ “กลายพันธุ์” ให้ยังสามารถมีชีวิตและแพร่ระบาดต่อไปได้

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ดังนี้

“ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่” เมืองอู่ฮั่น

เชื้อไวรัสที่ระบาดอย่างหนักที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนเมื่อช่วงเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีต้นตอมาจากตลาดขายส่งปลาและอาหารทะเลขนาดใหญ่ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีการขายสินค้าสัตว์ป่า เช่น ไก่ ค้างคาว กระต่าย งู โดยเป็นการติดเชื้อจากสัตว์กลายพันธุ์มาสู่คน และมีอัตราการแพร่ระบาดและทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าไวรัสปกติ

โควิด-19 “สายพันธุ์ใหม่” ที่กำลังระบาดที่อังกฤษ-แอฟริกาใต้

บีบีซีรายงานว่าโควิด-19 “สายพันธุ์ใหม่” ซึ่งระบาดที่อังกฤษ เกิดการกลายพันธุ์ชื่อ “N501Y” จากผู้ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ร่างกายกลายเป็นจุดกลายพันธุ์ แทนที่ภูมิคุ้มกันจะสามารถทำลายเชื้อได้ ซึ่งทางการอังกฤษรายงานว่า เชื้อสายพันธ์ุใหม่ทำให้มีอัตราการระบาดเพิ่มขึ้น 70% แต่ยังไม่มีการรายงานว่าเชื้อสายพันธุ์ใหม่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตอังกฤษเพิ่มขึ้นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่นอังกฤษ) “แมท แฮนคอก” รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสหราชอาณาจักร (ประเทศอังกฤษ) แถลงการณ์ว่าตอนนี้อังกฤษพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ 2 คน ซึ่งเดินทางมาจากประเทศแอฟริกาใต้

อย่างไรก็ตาม สายพันธ์ุใหม่นี้ “กลายพันธุ์” จากสายพันธุ์ใหม่เดิมที่ได้พบที่อังกฤษเมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นเชื้อที่ “กลายพันธุ์ใหม่” แต่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเชื้อที่กลายพันธุ์ที่ค้นพบที่อังกฤษ

เชื้อกลายพันธุ์จาก “ตัวมิงค์”

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แหล่งข่าวรายงานว่ามีการระบาดของโรคโควิด-19 ในหมู่ “ตัวมิงค์” ซึ่งถูกเลี้ยงไว้เพาะขนสำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้า โดยการกลายพันธุ์นี้ชื่อว่า “H69/V70 deletion” ซึ่งเชื้อโคโรน่าไวรัสได้ไปกลายพันธุ์ภายในตัวมิงค์ โดยถึงแม้จะไม่มีการรายงานถึงการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน แต่รัฐบาลเดนมาร์กได้สั่งปิดฟาร์มมิงค์ทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวมิงค์เป็น “พาหะ” แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้

ทั้งนี้ เชื้อที่กลายพันธุ์ทั้งหมดมาจากการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนหนาม ที่ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ในร่างกายเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ แหล่งข่าวรายงานว่าไวรัสโคโรน่ามีการกลายพันธุ์ชื่อ “D614G” ซึ่งคือการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่ประเทศอิตาลี เมื่อช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และยังมีการกลายพันธุ์ชื่อ “A222V” ที่พบเชื้อกลายพันธ์ุที่สเปนเมื่อช่วงเดือน ก.ย. ทีผ่านมา โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าอาจมีการกลายพันธ์ของเชื้ออีก 17 ชนิดทั่วโลก