‘เบร็กซิต’ ซ้ำเติม ‘โควิด’ ส่งออกอังกฤษหดตัว

การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร (ยูเค) หรือ “เบร็กซิต” มีผลสมบูรณ์เมื่อ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่แทนที่จะนำมาซึ่งความโล่งใจกลับสร้างอุปสรรคหลายด้านต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งออกที่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากและล่าช้าในการขนส่ง จนส่งผลให้การส่งออกของยูเคไปอียูมีแนวโน้มชะลอตัว

ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานว่า สมาคมขนส่งสินค้าทางบก ของสหราชอาณาจักรได้เรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการ “แทรกแซงอย่างเร่งด่วน” เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าไปยังอียู ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนปรนกฎระเบียบและการชดเชยต่อความเสียหาย เนื่องจากภาคส่งออกของอังกฤษต้องเผชิญกับกฎระเบียบใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะการตรวจสอบสินค้าส่งออกอย่างเข้มงวดที่มาพร้อมงานด้านเอกสารที่ละเอียดซับซ้อนมากขึ้น เช่น เอกสารประกาศศุลกากร เอกสารตรวจสอบด้านอนามัยการส่งออก กฎเกี่ยวกับแหล่งที่มาของสินค้า รวมถึงการตรวจสอบอื่น ๆ

นอกจากนี้การปิดกั้นการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนเสรีระหว่างอียูกับยูเค ทำให้การขนส่งสินค้ามีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดและใช้เวลามาก ส่งผลให้เกิดความแออัดในการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะในจุดที่จะข้ามช่องแคบอังกฤษไปยังอียู

ปี 2020 ที่ผ่านมา ภาคส่งออกของยูเคยังได้รับความเสียหายเช่นเดียวกับทั่วโลก จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการสินค้าของผู้คนทั่วโลกลดลง ขณะที่การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนยากลำบากมากขึ้น การที่เบร็กซิตมีผลอย่างสมบูรณ์ในปีนี้จึงกลายเป็นอุปสรรคที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจของยูเค

สมาคมขนส่งสินค้าทางบกเปิดเผยด้วยว่า การส่งออกสินค้าข้ามพรมแดนของยูเคไปอียูในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาลดลงถึง 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้หลายบริษัทจำเป็นต้องยุติกิจการ สมาคมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการชดเชยผลกระทบจากกฎระเบียบใหม่ ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนคลายจุดผ่านแดนเพิ่มเติมที่ไอร์แลนด์เหนือ เพื่อกระจายจุดตรวจสอบสินค้าข้ามพรมแดน

แม้ว่าโฆษกรัฐบาลจะชี้แจงว่า ขณะนี้การหยุดชะงักบริเวณจุดผ่านแดนใกล้กลับเข้าสู่ระดับปกติ และยังไม่มีตัวเลขของการส่งออกที่ลดลงอย่างชัดเจน แต่ตัวเลขการส่งออกที่ลดลงของสมาคมขนส่งสินค้าทางบกสอดคล้องกับทางสมาคมท่าเรืออังกฤษ

โดยการขนส่งทางทะเลได้รับความเสียหาย เนื่องจากมีสินค้าอาหารสด เช่น เนื้อและปลาที่เสียหายจากความล่าช้าของกระบวนการตรวจสอบ ทำให้บริษัทขนส่งหลายรายยุติให้บริการไปกลับระหว่างยูเคและอียู เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่บางรายพยายามปรับตัวด้วยการหาทางขนส่งใหม่ เช่น “พีล พอร์ตส์” บริษัทขนส่งทางเรืออังกฤษที่ขยายการดำเนินงานในท่าเรือของลิเวอร์พูล เพื่อหลีกเลี่ยงจุดผ่านแดนที่แออัดทางตอนใต้ ส่วนบางธุรกิจจัดตั้งคลังสินค้าในยุโรปเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายทางธุรกิจในกรณีที่การขนส่งข้ามพรมแดนล่าช้า