โควิดแฮงโอเวอร์ เพราะ “หนี้” ของชาติกำลังพัฒนา

ดอลลาร์สหรัฐ
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ในยามที่คนทั่วไปพากันมองเห็น “แสงสว่างปลายอุโมงค์” หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำเอาเศรษฐกิจโลกแทบพังพาบไปเมื่อปีที่ผ่านมา

บรรดานักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกก็เริ่มแสดงความกังวลใหม่ออกมา

นั่นคือหวั่นเกรงว่า “หนี้มหาศาล” ที่ประเทศทั่วโลกก่อไว้เมื่อปีที่แล้ว จะกลายเป็นปัญหาใหม่ที่สุดท้ายแล้วก็จะขวางการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา หรือที่เรียกกันว่า “ประเทศเศรษฐกิจใหม่” ทั้งหลาย

บางคนเรียกปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้ว่า ภาวะ “แฮงโอเวอร์” ที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นยังโซซัดโซเซลากยาวต่อไปนานเกินกว่าที่คาดกันไว้

“หนี้” ที่รัฐบาลทั้งโลกชวนกันก่อขึ้นเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา รวมแล้วมียอดรวมถึง 16.3 ล้านล้านดอลลาร์ แต่เอสแอนด์พี โกลบอล เรตติ้ง บอกว่าจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น โดยคาดกันว่าในปี 2021 นี้จะมีการก่อหนี้ภาครัฐเพิ่มเติมอีก 12.6 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาใช้ในโครงการอุ้มเศรษฐกิจไม่ให้พังพาบสนิทนั่นแหละ

เหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ประเทศทั่วโลกตัดสินใจก่อหนี้มหาศาลขนาดนั้น เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำเอามาก ๆ นั่นเอง

ปัญหาก็คือ ดอกเบี้ยที่ว่านั้นอาจไม่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอยู่ตลอดไป

เหตุผลก็คือ เงินที่เทเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุปสงค์ในระบบพุ่งขึ้นอย่างพรวดพราด จากความคาดหวังที่ว่า โควิด-19 จะหายไปโดยเร็วเพราะประสิทธิภาพของวัคซีน จะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นจนเกินระดับที่ต้องการ

หวั่น ๆ กันว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนี้จะกดดันจนบรรดาธนาคารกลางทั้งหลายหันมาขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดกันไว้ เพราะวิธีที่ใช้กันมากที่สุดในการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อ หนีไม่พ้นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดปริมาณเงินในระบบลง

หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นจริงตามที่วิตกกันดังกล่าว จะเกิดปัญหาตามมาตรงที่ดอกเบี้ยของกองหนี้มหาศาลที่ก่อไว้เป็นภูเขาเลากาเพื่ออุ้มเศรษฐกิจก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย เม็ดเงินที่ควรนำไปใช้เพื่อสิ่งที่จำเป็น หรือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ก็จะกลายเป็นเงินสำหรับการชำระหนี้ไปแทน

นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม การประกาศใช้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา ถึงกลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับเฟด หรือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาขึ้นมาก

การคาดการณ์เรื่องอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ว่านี้ ถูกจับตามากยิ่งขึ้น เมื่อผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น พันธบัตร 10 ปีของกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา หรือพันธบัตรรัฐบาลของสหราชอาณาจักร (ยูเค) พุ่งขึ้นสูงมากเมื่อเร็ว ๆ นี้ พันธบัตรระยะ 10 ปีของกระทรวงการคลังสหรัฐ ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 1.6% เป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบปีเศษเลย

ยูเคบอนด์ ระยะ 10 ปี ก็เช่นเดียวกัน เมื่อต้นปีนี้อยู่ที่ 0.2% เมื่อเดือนกุมภาพันธ์กระฉูดขึ้นเป็น 0.8%

“อูโก แพนิซซา” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ จากแกรดูเอต อินสติติวต์ ในนครเจนีวา เตือนเอาไว้ว่า ถ้าอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นจริง ๆ ก็จะเป็นปัญหา “ซับซ้อนอย่างยิ่ง” ต่อธนาคารกลางของทุกชาติ

ในสหรัฐอเมริกา สำนักงานงบประมาณของคองเกรสประเมินว่า หนี้ภาครัฐ ณ สิ้นปีงบประมาณนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 22.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 102% ของจีดีพีในแต่ละปี ที่อิตาลี สัดส่วนที่ว่านี้อยู่ที่ 154% เมื่อสิ้นเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ในขณะที่กรีซ อยู่ที่ราว ๆ 200%

ประเทศไหนยิ่งมีหนี้สูง ผลกระทบที่จะเกิดจากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นก็ยิ่งมากตามไปด้วย ตัวอย่าง เช่น ในอังกฤษ มีการประเมินอย่างเป็นทางการไว้ว่า แค่ดอกเบี้ยสูงขึ้น 1% จะทำให้แต่ละปีรัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นถึง 20,800 ล้านปอนด์ ในปีงบประมาณ 2025-2026

เงิน 20,800 ล้านปอนด์ เอาไปใช้ทำอย่างอื่นได้มากมายมหาศาลนัก ถ้าในสภาพเศรษฐกิจปกติธรรมดาก็ไม่กระไรนัก แต่ในยามที่เศรษฐกิจกำลังพลิกฟื้นจากการเจ็บหนักเพราะโควิด ยิ่งน่าคิดมากยิ่งขึ้น

นี่ยังไม่นับบรรดาพันธบัตรของรัฐบาลอีกมากมายมหาศาลที่บรรดาธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ แบกเอาไว้บนหลัง ซึ่งต้องควักกระเป๋าจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งเชื่อว่า บรรดาประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์นี้ได้ไม่ยาก แต่ที่จะลำบากหนักก็บรรดาชาติกำลังพัฒนาทั้งหลาย ที่เคยย่ามใจก่อหนี้เอาไว้มหาศาล ทำให้รัฐบาลหลงเหลือทางออกไม่มากนัก ถ้าไม่ขึ้นภาษีเพื่อหารายได้เพิ่ม ก็ต้องรัดเข็มขัดกันเท่านั้นเอง

แต่ทั้งสองอย่างไม่เป็นผลดีสำหรับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นจากวิกฤตโควิดแน่นอน