โซเชียลจีนเดือด เรียกร้องแบน ไนกี้ H&M เหตุเลิกใช้ฝ้ายซินเจียง

ชาวจีนเรียกร้องคว่ำบาตรสองแบรนด์ดัง เหตุเลิกใช้ฝ้ายซินเจียง
ภาพจาก AFP

โซเชียลจีนเดือด ชาวจีนแห่แบน ไนกี้-H&M หลังมีการแชร์แถลงการณ์สองแบรนด์ดัง เลิกใช้ฝ้ายจากซินเจียง อ้างมีการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ 

วันที่ 25 มีนาคม 2564 บีบีซี รายงานว่า ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกอย่าง “ไนกี้” และ H&M กำลังเผชิญกับปฏิกิริยารุนแรงจากจีน หลังจากทั้งสองแบรนด์ได้ออกมาแสดงความกังวลเรื่องการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์ ระหว่างขั้นตอนการผลิตฝ้ายซินเจียง

ชาวจีนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้คว่ำบาตรสองแบรนด์ยักษ์ดังกล่าว ขณะที่เหล่าคนดังประกาศตัดญาติขาดมิตรกับแบรนด์ ส่วนแพลตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ ก็พากันเลิกขายสินค้า H&M

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในระหว่างที่ชาติตะวันตกหลายประเทศกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อจีนในสัปดาห์นี้ เนื่องจากจีนถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิม “อุยกรู์” ในเขตการปกครองตนเองซินเจียง

การคว่ำบาตรดังกล่าว รวมถึงการห้ามเดินทางและอายัดทรัพย์สิน พุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน

เมื่อเดือนธันวาคม บีบีซีได้เผยแพร่การสืบสวน โดยอาศัยข้อมูลจากผลวิจัยใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าจีนกำลังบังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์หลายแสนคน รวมทั้งชาวอุยกูร์ ไปเป็นผู้ใช้แรงงานในไร่ฝ้ายของซินเจียง

เรื่องนี้เกี่ยวกับ “ไนกี้” และ H&M อย่างไร?

แถลงการณ์ของทั้งสองบริษัทเขียนขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เพิ่งมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในช่วงไม่กี่วันมานี้ หลังชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรจีน

ทั้งสองบริษัทระบุในแถลงการณ์ว่า พวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับรายงานต่าง ๆ ที่เผยว่า ชาวอุยกูร์ถูกบังคับให้เก็บฝ้ายในซินเจียง พร้อมกับระบุว่า บริษัทไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากภูมิภาคดังกล่าว

ความกราดเกรี้ยวที่ปะทุขึ้นบนโซเชียลจีนครั้งล่าสุด เกิดขึ้นจากการโพสต์ของกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ชื่อว่า “คอมมิวนิสต์ ยูธ ลีก”

“ปล่อยข่าวลือเพื่อคว่ำบาตรผ้าฝ้ายซินเจียง แต่ขณะเดียวกันก็อยากจะสร้างรายได้ในจีน? ช่างเป็นความปรารถนาที่อยู่เหนือเหตุผล!” นี่คือข้อความที่ปรากฏบนเวย์ปั๋วเมื่อช่วงเช้าวันพุธ พร้อมกับการแชร์ภาพแถลงการณ์ของ H&M

สำนักข่าวทางการจีนพยายามปกป้องฝ้ายซินเจียง พร้อมกับวิจารณ์แบรนด์ต่าง ๆ

“ซีจีทีเอ็น” สื่อทางการจีน ได้เผยแพร่วิดีโอทางเวย์ปั๋ว อ้างว่าเป็นการแสดงความจริงเรื่องการเก็บฝ้ายในซินเจียง ซึ่งมีการใช้ระบบอัตโนมัติ พร้อมอ้างคำพูดจากเกษตรกรชาวอุยกูร์ที่กล่าวว่า ผู้คนกำลังต่อสู้เพื่อทำงานที่นั่น แลกกับการมีรายได้ที่สูง

ด้าน “ซีซีทีวี” รายงานว่า H&M “คาดการณ์ผิด” ในการพยายามเป็น “ฮีโร่ผดุงความยุติธรรม” พร้อมกับระบุว่า H&M จะต้องชดใช้อย่างหนักต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

ขณะที่ H&M ในจีน ยังไม่ตอบคำถามจากบีบีซี แต่ได้โพสต์แถลงการณ์ทางเวย์ปั๋วเมื่อวันพุธว่า บริษัทเคารพผู้บริโภคชาวจีนเหมือนเช่นเคย พร้อมกับระบุว่า จะไม่แสดงจุดยืนทางการเมืองใด ๆ

ในคืนวันพุธ แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างน้อย 3 ราย ได้แก่ พินตัวตัว, เจดีดอตคอม และทีมอลล์ ได้ถอนผลิตภัณฑ์ H&M ออกจากระบบการขาย

คนดังหลายคน ไม่ว่าจะเป็น หวัง อี้ป๋อ, หวง ซวน และ วิกตอเรีย ซ่ง ได้ออกแถลงการณ์ว่า พวกเขากำลังตัดความสัมพันธ์กับสองแบรนด์นี้ หนึ่งในนี้ระบุว่า ผลประโยชน์ของประเทศอยู่เหนือสิ่งอื่นใด

โซเชียลมีเดียจีนเกิดกระแสต่อต้านทั้งสองบริษัท คนจำนวนมากเรียกร้องให้คนอื่น ๆ คว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ของทั้งสองแบรนด์ ขณะที่แฮชแท็ก “I support Xinjiang cotton” (ฉันสนับสนุนฝ้ายซินเจียง) กำลังเป็นหัวข้อที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเวย์ปั๋ว โดยมียอดวิวมากกว่า 1.8 พันล้านครั้ง

แฮนเนส แอนด์ มอริทส์ หรือ H&M มีความสัมพันธ์อันยาวนานกับจีน ซึ่งมีความสำคัญต่อทั้งสองฝ่าย เพราะจีนเป็นทั้งหนึ่งในแหล่งวัตถุดิบสำคัญของ H&M และเป็นตลาดใหญ่ของ H&M ด้วย

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องจีนให้พิจารณาสิ่งที่เป็นปัญหาหลักในประเทศ เป็นสิ่งที่ทางการจีนไม่ชอบ ยกตัวอย่างเกาหลีใต้หรือฟิลิปปินส์ ที่เครือข่ายร้านค้าและการส่งออกผลไม้ได้รับความเดือดร้อน หลังเกิดข้อพิพาททางการทูต

จีนมักจะใช้อำนาจทางการค้า และลัทธิชาตินิยมเพื่อกดดันรัฐบาลและบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ให้ปิดปากเงียบเรื่องการละเมิด

ซินเจียงคืออะไร? ใครคือชาวอุยกูร์?

ซินเจียง เป็นภูมิภาคที่ใหญ่สุดของจีน ผลิตฝ้ายประมาณ 1 ใน 5 ของโลก ในทางทฤษฎีแล้วภูมิภาคแห่งนี้ถือเป็นเขตปกครองตนเอง ขณะที่ในความเป็นจริง ซินเจียงต้องเผชิญข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ชาวอุยกูร์หลายล้านคนของจีนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิม ที่มองว่าตัวเองมีวัฒนธรรมและเชื้อชาติใกล้เคียงกับประเทศในเอเชียกลาง

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาได้มีการอพยพครั้งใหญ่ของชาวฮั่น (อีกกลุ่มชาติพันธุ์ของจีน) มายังซินเจียง ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดกับชาวอุยกูร์ ก่อนจะลุกลามไปสู่ความรุนแรง

สิ่งนี้ส่งผลให้เกิดการปราบปรามครั้งใหญ่ และเกิดโครงการเฝ้าระวังของรัฐ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์ ขณะที่จีนเผยว่ามาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนและก่อการร้าย

ชาวอุยกูร์ถูกควบคุมตัวที่ค่าย ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีการทรมาน, บังคับใช้แรงงาน และล่วงละเมิดทางเพศ แต่จีนปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยระบุว่าค่ายเหล่านี้ได้ปรับเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อมุ่งยกระดับให้ชาวอุยกูร์พ้นจากความยากจน