อีก 30 ปีสิ้นสุดยุคน้ำมัน ถูกแทนที่ด้วยพลังงาน ‘แสงแดด-ลม’

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อ 23 เมษายนที่ผ่านมา มีการเผยแพร่รายงานสำคัญชิ้นหนึ่งออกสู่สาธารณะ รายงานดังกล่าวเป็นผลการวิจัยขององค์กรวิชาการอิสระ หรือธิงค์แทงค์ อย่าง “คาร์บอนแทรคเคอร์” ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

เป็นรายงานว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลก จากพลังงานฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยการนำเอาข้อมูลการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญอย่างพลังงานที่ได้จากกังหันลม และพลังงานที่ได้จากโซลาร์เซลล์ มาใช้
เป็นพื้นฐานในการคำนวณและคาดการณ์สถานการณ์พลังงานในอนาคต

ผู้เขียนรายงานชิ้นดังกล่าว คือ “คิงส์มิลล์ บอนด์” นักยุทธศาสตร์พลังงานของคาร์บอนแทรคเคอร์ กับ “แฮร์รี เบนแฮม” ประธานของเอมเบอร์-ไคลเมต องค์กรวิชาการอิสระอีกราย

ประเด็นการคาดการณ์ที่สำคัญอย่างมากของรายงานชิ้นนี้ก็คือ พลังงานลมและแสงแดด “จะกลายเป็นพลังงานหลักของโลกทดแทนพลังงานฟอสซิล (น้ำมัน, ถ่านหินและก๊าซ) ทั้งหมดภายในปี 2050”

ยิ่งไปกว่านั้น “คาร์บอนแทรคเคอร์” ยังทำนายเอาไว้ด้วยว่า ถ้าหากพลังงานจากลมและแสงแดดยังคงขยายตัวอยู่ในอัตราที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ก็จะสามารถเข้าไปแทนที่พลังงานฟอสซิลทั้งหมดที่ใช้กันอยู่ในภาคการผลิตไฟฟ้าภายในราวกลางทศวรรษ 2030 นี้เท่านั้นเอง

นั่นหมายความว่า ภายใน 15 ปีข้างหน้าพลังงานลมและแดดจะถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโลกทั้งหมด ถัดจากนั้นไปอีก 15 ปีก็จะเข้าไปแทนที่พลังงานน้ำมัน, ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ กลายเป็นพลังงานหลักของโลกไปในที่สุด

นี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แม้แต่คิงส์มิลล์ บอนด์ ก็ระบุชัดเจนว่า นี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นการก้าวไปสู่ยุคใหม่ทางด้านพลังงานที่สามารถเปรียบได้กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมยังไงยังงั้น

เหตุผลสำคัญของผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ที่จะส่งผลให้สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงมีอยู่ 2 ประการ ประการแรกก็คือ ศักยภาพทางเทคโนโลยีทางด้านนี้ของโลกได้บรรลุถึงระดับที่อำนวยให้เป็นไปได้แล้ว

อีกประการหนึ่งก็คือ ต้นทุนของการผลิตพลังงานจากลมและแสงแดดจะยิ่งต่ำลงเรื่อย ๆ ผลักดันให้เกิดการใช้งานเติบโต ขยายตัวขึ้นมหาศาลในที่สุด

ในรายงานชิ้นนี้ระบุว่า ด้วยเทคโนโลยีที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ทำให้โลกมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากกระแสลมและแสงแดดได้มากถึง 6,700 เพต้าวัตต์อาวร์ (Petawatt hours-PWh)

นั่นเป็นพลังงานมหาศาลมาก เพราะเทียบแล้วมากกว่าปริมาณพลังงานที่ทั้งโลกบริโภคในปี 2019 ถึงกว่า 100 เท่า

มีศักยภาพให้ใช้ได้ถึงขนาดนั้น แต่พลเมืองของโลกกลับใช้ศักยภาพที่ว่านั้นจำกัดจำเขี่ยมากกล่าวคือ ใช้พลังงานแสดงอาทิตย์ผลิตกระแสไฟฟ้าเพียง 0.7 PWh และใช้พลังงานลมผลิตได้อีกเพียง 1.4 PWh เท่านั้นในปี 2019

แต่คาร์บอนแทรคเคอร์มั่นใจอย่างยิ่งว่า สิ่งที่คาดการณ์ไว้ไม่ผิดเพราะคำนวณแล้วพบว่า ขอแค่การขยายตัวที่ระดับเฉลี่ย 15% ต่อปี พลังลมและแสงแดดก็สามารถเข้าไปทดแทนพลังงานฟอสซิลได้ทั้งหมดในปี 2050

ขณะที่ในความเป็นจริง ในช่วง 10 ปีมานี้การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ขยายตัวโดยเฉลี่ยแล้วมากถึง 39% ต่อปี เรียกได้ว่าแทบจะเพิ่มศักยภาพมากขึ้นเป็น 2 เท่าในทุก ๆ 2 ปี ส่วนการผลิตพลังงานจากกระแสลมก็มีศักยภาพเพิ่มขึ้น
ถึง 17% ต่อปี

ในทางตรงกันข้าม ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดลดต่ำลงโดยเฉลี่ยแล้ว 18% ต่อปีมาตั้งแต่ปี 2010 เช่นเดียวกับต้นทุนของการผลิตพลังงานจากลมที่ลดลง 9% ต่อปีทุกปีในช่วงเวลาเดียวกัน

กระนั้นยังคงมีนักวิชาการระดับผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนที่ยังไม่เชื่อต่อการคาดการณ์นี้ อย่างน้อยก็ไม่เชื่อว่าอุตสาหกรรมพลังงานจากฟอสซิลจะ “ตาย” ไปในระยะเวลารวดเร็วขนาดนั้น

“แคร์โรลล์ มัฟเฟทท์” ซีอีโอของศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ องค์กรที่ไม่แสวงกำไรอีกแห่ง ให้เหตุผลเอาไว้ว่า เป็นเพราะโครงสร้างด้านพลังงานของโลกแต่เดิมฝังลึกอยู่ในหลายสิ่งหลายอย่างของสังคมโลก

ในเวลาเดียวกันก็ยังคงมีการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่กำลังจะตายนี้อยู่เรื่อยมา

ตัวอย่างที่เห็นกันชัดเจนก็คือ รายงานว่าด้วยกิจการธนาคารและภาวะโลกร้อนประจำปี 2021 ของซีเอ็นบีซีที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ชี้ให้เห็นว่า ในระหว่างปี 2016-2020 บรรดาธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 60 ธนาคาร มีมากถึง 33 ธนาคารที่เพิ่มเงินทุนสนับสนุนในภาคธุรกิจพลังงานจากฟอสซิล

ทั้ง ๆ ที่ประกาศว่าจะพยายามให้ความช่วยเหลือเพื่อชะลอภาวะโลกร้อนกันอยู่ตลอดเวลา