ฮ่องกงเจอโจทย์ใหญ่ ‘คนไม่ฉีดวัคซีน’

หลังจากเศรษฐกิจ “ฮ่องกง” หดตัว 6 ไตรมาสติดต่อกัน ตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองจนมาถึงการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ล่าสุดฮ่องกงประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 1 ปีนี้ขยายตัวถึง 7.8% และทำให้ฮ่องกงพ้นออกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เซาท์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรก “ฮ่องกง” มาจากภาคส่งออกที่ขยายตัวถึง 30.6% รวมถึงการนำเข้าเพิ่มขึ้น 23.3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเพียง 1.6%

อย่างไรก็ดี “แครี่ ลี รัวฟัน” นักเศรษฐศาสตร์ของโอซีบีซี วิง ฮัง แบงก์ ระบุว่า อนาคตของเศรษฐกิจฮ่องกงขึ้นอยู่กับอัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งจะมีผลกระทบตั้งแต่การเปิดประเทศ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภค

“จอร์จ ลึง สิ ไค” ประธานสภาหอการค้าฮ่องกง ระบุว่า ต้องเร่งรีบฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วที่สุด สำหรับการเปิดประเทศเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ เพราะหากมีการระบาดอีกครั้งจะเข้ามามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก หากยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่คงยากที่ฮ่องกงจะกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับปกติ

ขณะที่โครงการฉีดวัคซีนในฮ่องกงดำเนินการไปอย่างล่าช้า มีประชาชนเพียง 12.6% ที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และเพียง 7.19% ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว

“ลอ ยู ลัง” อาจารย์กุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง หนึ่งในที่ปรึกษาการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ระบุว่า แท้จริงฮ่องกงควรจะใกล้ถึงภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว เพราะมีซัพพลายวัคซีนที่เพียงพอ แต่รัฐบาลล้มเหลวในการสร้างความเชื่อมั่นว่า วัคซีนของบริษัท ซิโนแวก ไบโอเทค และโฟซันฟาร์มา-ไบโอเอ็นเทค ที่ทางการนำเข้ามา ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนส่วนมากยังลังเลไม่ไปฉีดวัคซีน

ขณะที่รัฐบาลผุดโครงการ “วัคซีนบับเบิล” เพื่อให้ร้านอาหาร ผับ บาร์ รวมถึงสถานบันเทิงที่เข้าร่วมโครงการ เปิดบริการด้วยมาตรการที่เข้มงวดน้อยลง และเปิดให้บริการเฉพาะลูกค้าและพนักงานได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น หวังกระตุ้นคนออกมาฉีดวัคซีนมากขึ้น

แต่เนื่องจากมาตรการภายใต้โครงการ วัคซีนบับเบิลมีความซับซ้อนและวุ่นวายอย่างมาก รวมถึงผู้ประกอบการไม่อยากบังคับให้พนักงานในร้านไปฉีดวัคซีน ดังนั้น ทั้งที่เพิ่งเริ่มโครงการเมื่อ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ก็มีร้านค้าจำนวนมากที่ทยอยออกจากโครงการแล้ว และเลือกกลับไปเปิดบริการตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคเหมือนเดิม

ทั้งนี้ “วัคซีนบับเบิล” ผิดพลาดตรงที่อนุญาตให้เฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ถึงจะสามารถเข้าใช้บริการได้ ทั้งที่จริงแล้วมีกลุ่มประชาชนที่รักษาหายจากโรคโควิด-19 ซึ่งมีภูมิคุ้มกัน และไม่ต้องฉีดวัคซีนแล้ว รวมถึงกลุ่มคนที่มีผลติดเชื้อโควิดเป็นลบ ซึ่งสามารถเข้าถึงสถานที่เหล่านี้ได้ และไม่เสี่ยงต่อการเป็นพาหะของโรคเช่นกัน

นอกจากนี้ โครงการ “แทรเวลบับเบิล” หรือการเดินทางระหว่าง 2 ประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ระหว่างฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งจะเริ่มวันที่ 26 พ.ค.นี้ ที่หวังดึงดูดให้คนออกไปฉีดวัคซีนมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลออกกฎหมายว่า ชาวฮ่องกง
ที่ฉีดวัคซีนแล้วจึงจะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ แต่แทรเวลบับเบิลอาจถูกเลื่อนอีกครั้ง เนื่องจากโควิด-19 กลับมาระบาดที่สิงคโปร์อีกรอบ

“พอล ชัน โม โพ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฮ่องกง กล่าวว่า ต้องเร่งอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เร็วที่สุด เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ หากการฉีดวัคซีนยังคงล่าช้าจะเข้ามามีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฮ่องกงเป็นอย่างมาก