ธุรกิจดิจิทัล ‘อินเดีย’ คึกคัก ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

“อินเดีย” แม้ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่รุนแรง โดยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมเกือบ 30 ล้านคน ในขณะนี้ แต่สถานการณ์ดังกล่าวกลับกลายเป็นโอกาสทองของธุรกิจดิจิทัลที่มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซและการให้บริการทางการเงินออนไลน์ ทำให้ภาคธุรกิจต่างหันมาเร่งลงทุนและแข่งขันในอุตสาหกรรมดิจิทัล เนื่องจากเห็นโอกาสสูงในการเติบโตในประเทศที่มีประชากรกว่าพันล้านคนแห่งนี้

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า “ทาทา ดิจิทัล” (Tata Digital) บริษัทในเครือ “ทาทา กรุ๊ป” ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมหนักของอินเดีย โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์และเหล็กกล้า เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าซื้อ “วันเอ็มจี เทคโนโลยีส์” สตาร์ตอัพที่ให้บริการด้านสุขภาพออนไลน์ ตั้งแต่การขายยา และเวชภัณฑ์ ไปจนถึงบริการพบแพทย์ออนไลน์ หรือ “เทเลเมดิซีน” ซึ่งมีผู้ใช้บริการราว 40 ล้านคน/เดือน

ก่อนหน้านี้ ทาทายังได้บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อ “บิ๊กบาสเก็ต” บริษัทยูนิคอร์นมาแรงที่มีส่วนแบ่งในตลาดอีคอมเมิร์ซของอินเดียกว่า 35% ในปี 2019 แม้ว่าทาทาจะไม่ได้เปิดเผยมูลค่าในการเจรจาซื้อบริษัทเหล่านี้ แต่คาดว่าทาทาใช้เงินสูงถึง 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเข้าถือหุ้น 64.3% ในบิ๊กบาสเก็ต

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้สะท้อนความดุเดือดของอุตสาหกรรมดิจิทัลของอินเดีย โดยเฉพาะการแข่งขันในกลุ่มอีคอมเมิร์ซที่มีผู้นำอย่าง “ฟลิปการ์ต” (Flipkart) และ “อเมซอน” ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติที่ครองตลาดอินเดียถึง 60%

ไม่เพียงทาทาเท่านั้นที่เป็นบริษัทอินเดียที่หันมาแข่งขันในธุรกิจออนไลน์ ในปี 2020 “รีไลแอนซ์ อินดัสทรีส์” อาณาจักรธุรกิจอินเดียของมหาเศรษฐี “มูเกช อัมบานี” ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของตนเอง “จิโอมาร์ต” และยังเข้าซื้อกิจการดิจิทัลอย่าง “เน็ตเมดส์” สตาร์ตอัพร้านขายยาออนไลน์อีกด้วย

ตลาดธุรกิจดิจิทัลของอินเดียยังได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนอินเดียเลือกใช้บริการออนไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ทำให้ยอดผู้ใช้งานบริการดิจิทัลต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลของมูลนิธิตราสินค้าอินเดีย (ไอบีอีเอฟ) คาดการณ์ว่า มูลค่าของการซื้อขายออนไลน์จะเพิ่มขึ้นเป็น 10.7% ของตลาดค้าปลีกอินเดีย ภายในปี 2024 เพิ่มขึ้นจากระดับ 4.7% ในปี 2019

ขณะที่การแข่งขันในกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินออนไลน์ก็มีความร้อนแรงไม่แพ้กัน ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า “เพย์ทีเอ็ม” (Paytm) ผู้ให้บริการทางการเงินดิจิทัลรายใหญ่ของอินเดีย เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอในเดือน ก.ค.นี้ โดยตั้งเป้าจะระดมทุนได้ราว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้คาดว่าจะทำให้เพย์ทีเอ็ม มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019 ซึ่งเม็ดเงินจากการระดมทุนจะนำมาใช้ในการขยายบริการเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 150 ล้านคน/เดือน

อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมา เพย์ทีเอ็มประสบปัญหาในแง่การทำกำไรจากการที่ต้องเผชิญกับผู้แข่งรายใหม่ โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตีตลาดอินเดีย อย่าง “กูเกิลเพย์” (Google Pay) และ “โฟนเป” (PhonePe) ของฟลิปการ์ต แต่เพย์ทีเอ็มสามารถลดระดับการขาดทุนลงมาได้จากราว 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019 มาอยู่ที่ราว 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมา

“นีล ชาห์” นักวิเคราะห์ของบริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยี “เคาน์เตอร์พอยต์” ระบุว่า “เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเสนอขายหุ้นไอพีโอ เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้น และความพึงพอใจของลูกค้าลดลง การขายหุ้นไอพีโออาจช่วยให้เพย์ทีเอ็มมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น”