เสียงเตือน Stagflation เริ่มดัง หลัง “สาดเงิน” สู้โควิด-19 มโหฬาร

ชีพจร
นงนุช สิงหเดชะ

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างหายนะให้กับโลกมากที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดปรากฏการณ์อย่างหนึ่งนั่นคือ ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต่างใช้วงเงินมหาศาลเพื่อบรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการต้องล็อกดาวน์ประเทศ จนนักเศรษฐศาสตร์บางคนบอกว่า เป็นวงเงินที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์

การอัดฉีดเงินมโหฬารเข้าไปในระบบ แน่นอนว่าเห็นผลในทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจดีดตัวกลับมาเร็ว ซึ่งนำมาสู่เงินเฟ้อสูงในปัจจุบัน จึงเริ่มมีเสียงเตือนออกมาจากนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญว่า โลกเกิดความเสี่ยงที่จะเกิด “ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน แต่เงินเฟ้อสูง” หรือที่เรียกว่า stagflation ซึ่งมาจากการผสมคำระหว่าง stagnant (ชะงักงัน) กับคำว่า inflation (เงินเฟ้อ) ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ปกติ เพราะโดยปกติหากเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจควรจะเติบโตสูงเช่นกัน

ในซีกยุโรปก็ไม่ต่างกัน หลังจากเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมของยูโรโซน เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สูงสุดในรอบ 10 ปี ทำให้ “มาริโอ มอนติ” อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี ออกมาเตือนว่า ภัยคุกคามใหญ่ที่สุดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ก็คือ stagflation เพราะความพยายามที่จะกอบกู้เศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากภัยของโควิด-19 ด้วยการที่บรรดาธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายในปริมาณมหาศาล พร้อมกับมาตรการทางการคลังจากรัฐบาล อาจกลายเป็นตัวเร่งเงินเฟ้อ

ขณะเดียวกัน ความยืดหยุ่นในภาคการผลิตของยุโรปถูกจำกัดจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานในเอเชีย ส่งผลให้กิจกรรมการผลิตในยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด รวมทั้งค่าจ้างที่ขยับขึ้นจะยิ่งผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีก

“เศรษฐกิจของหลายประเทศไม่ใช่เฉพาะแค่สหภาพยุโรปเท่านั้นที่อาจเจอปัญหา stagflation คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นกับหลายประเทศในทศวรรษ 1970 ดังนั้น จึงมีความสำคัญมากที่จะต้องบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด มีความสอดประสานกันในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการใช้นโยบายการเงินและการคลังมากเป็นพิเศษ เพื่อไปสู่ภาวะปกติมากขึ้น”

ในเดือนสิงหาคม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของยูโรโซน ซึ่งเป็นดัชนีวัดกิจกรรมการผลิตและบริการ อยู่ที่ 59.5 ต่ำที่สุดในรอบ 2 เดือน ขณะที่เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 60.2 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่า โมเมนตัมของกิจกรรมการผลิตน่าจะอยู่ในสภาพชะลอลง

ก่อนหน้านี้ “นูเรียล รูบินิ” ประธานบริหารของรูบินิ แมคโคร แอสโซซิเอตส์ และอดีตนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสกิจการระหว่างประเทศในรัฐบาล “บิลล์ คลินตัน” และยังเป็นนักวิจัยรับเชิญของธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารโลก และไอเอ็มเอฟ ออกมาระบุว่า ภัยคุกคามจาก stagflation ในตอนนี้เป็นของจริง เพราะถึงแม้จะมีการอ้างว่าเงินเฟ้อสูงในสหรัฐขณะนี้เป็นแค่เรื่องชั่วคราวและจะอ่อนตัวไปเอง แต่จะไม่เป็นอย่างนั้น ซึ่งตนได้เตือนมาหลายเดือนแล้วว่า ส่วนผสมของมาตรการในปัจจุบันที่ใช้นโยบายผ่อนคลายทั้งการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่อง จะกระตุ้นให้เกิดดีมานด์สะสมแบบล้นเกินและนำไปสู่เงินเฟ้อร้อนแรง

นอกจากนั้น การที่เกิดปัญหาซัพพลายปรับตัวไม่ทันในระยะกลางจะลดศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจและต้นทุนผลิตสูงขึ้น ปัญหาของดีมานด์และซัพพลายดังกล่าวอาจนำไปสู่ stagflation (เศรษฐกิจถดถอยแต่เงินเฟ้อสูง) แบบเดียวกับทศวรรษ 1970 สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการเกิดวิกฤตหนี้ร้ายแรง

รูบินิชี้ว่า ตอนนี้มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า stagflation อย่างอ่อน ๆ เริ่มเกิดขึ้นแล้ว เงินเฟ้อในสหรัฐและประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าอื่น ๆ สูงขึ้น แต่อัตราเติบโตเศรษฐกิจช้าลงอย่างมาก ขณะนี้เกิดฉันทามติว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐ จีน ยุโรป และประเทศเศรษฐกิจหลักทั้งหลาย เป็นผลมาจากการขาดแคลนแรงงานและสินค้าในตลาด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น การกลับมาระบาดของสายพันธุ์เดลต้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อภาคการผลิต ทำให้คนงานยังไม่อยากกลับมาทำงาน และยังทำให้การกลับไปเปิดภาคบริการหลายอย่างมีปัญหา ซ้ำเติมระบบห่วงโซ่อุปทาน ท่าเรือ และโลจิสติกส์ทั่วโลก