โควาซิน วัคซีนอินเดีย ได้รับการรับรองจาก WHO แล้ว

WHO รับรองโควาซิน วัคซีนอินเดีย
REUTERS/Amit Dave/File Photo

WHO อนุมัติใช้วัคซีนโควิด “โควาซิน” ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดีย สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 อินเดียทูเดย์ รายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อนุญาตให้ใช้วัคซีนโควาซิน ของบริษัท ภารัต ไบโอเทค ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ความก้าวหน้าครั้งนี้ได้สร้างความยินดีให้กับชาวอินเดียกว่าร้อยล้านคนที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ ซึ่งเป็นวัคซีนโควิด-19 ตัวแรกของประเทศ

ความล่าช้าในการอนุมัติใช้วัคซีนโควาซิน ทำให้ชาวอินเดียหลายพันคน ซึ่งรวมถึงนักเรียนนักศึกษา คนทำงาน และครอบครัว ถูกแบ่งแยก ขณะที่อีกหลายล้านคนกำลังรอให้ประเทศต่าง ๆ ยอมรับการใช้วัคซีนชนิดนี้

ก่อนที่โควาซินจะได้รับการรับรองจาก WHO ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ที่วางแผนจะเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องถูกกักตัวเมื่อเดินทางไปถึงประเทศปลายทาง รวมถึงต้องมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ (โดยเสียค่าใช้จ่ายเอง) หรือต้องรับวัคซีนชนิดอื่นที่ประเทศปลายทางกำหนด

โดยทั่วไปแล้ว วัคซีนที่ WHO อนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ถือเป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกด้วย ยกเว้นบางประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลของตัวเอง เช่น เอฟดีเอของสหรัฐ และอีเอ็มเอในยุโรป

การอนุมัติของ WHO ครั้งนี้ จะเร่งให้กระบวนการต่าง ๆ เดินหน้าไปได้รวดเร็วขึ้น และประเทศอื่น ๆ จะมีความมั่นใจในวัคซีนมากขึ้น ทั้งในแง่การได้รับการยอมรับและความปลอดภัยในการเดินทาง

 

วัคซีนชนิดนี้สามารถใช้ได้กับทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยจะได้ฉีด 2 โดส เว้นห่างกัน 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม WHO ระบุว่า ยังไม่มีคำแนะนำให้ใช้โควาซินกับเด็ก และข้อมูลการใช้กับสตรีมีครรภ์ที่มีอยู่ตอนนี้ยังไม่เพียงพอที่จะประเมินความปลอดภัยหรือประสิทธิภาพได้

วัคซีนที่ผลิตในอินเดียนี้ ปัจจุบันได้ถูกบรรจุในรายชื่อวัคซีนที่ได้รับการรับรองแล้ว เช่นเดียวกับโมเดอร์นา ไฟเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน รวมถึงวัคซีนที่ผลิตในจีนอย่างซิโนฟาร์ม และซิโนแวค

บีบีซี รายงานว่า วัคซีนชนิดนี้ได้รับการอนุมัติใช้ในอินเดียเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระหว่างที่วัคซีนยังอยู่ในขั้นการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ซึ่งได้สร้างความกังวลและทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์

ภารัต ไบโอเทค ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนชนิดนี้ เผยแพร่ข้อมูลที่ระบุว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพ 78% ขณะที่ WHO ทวีตข้อความแสดงความเชื่อมั่นว่า วัคซีนชนิดนี้จะมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า การรับรองวัคซีนโควาซินนั้นรวดเร็วเกินไป ทั้งที่ยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน แต่ ดร.กฤษณะ เอลล่า ประธานบริษัท กล่าวว่า วัคซีนโควาซินมีความปลอดภัย 200%

คณะผู้เชี่ยวชาญของ WHO ซึ่งเป็นผู้อนุมัติโควาซินให้สามารถใช้ในกรณีฉุกเฉิน ได้ขอให้บริษัทส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาให้เมื่อเดือนที่แล้ว ระหว่างการตรวจสอบการขอใบรับรองที่ภารัต ไบโอเทค ยื่นมา

บีบีซีรายงานด้วยว่า มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ยอมรับวัคซีนโควาซิน และอินเดียหวังว่าการรับรองจาก WHO จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้