อุตฯพลาสติก-ปิโตรเคมี กำลังตกเป็นเป้าของ ‘ยูเอ็น’

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิช

สมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีเอ) กำหนดจัดการประชุมใหญ่ชาติสมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กว่า 100 ประเทศ ขึ้นระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์จนถึงวันที่ 2 มีนาคมที่จะถึงนี้ ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เพื่อแสวงหาและจัดทำ “พิมพ์เขียว” ที่จะนำไปสู่สนธิสัญญาสำคัญประการหนึ่ง

เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่ยูเอ็นอ้างว่า “มีความสำคัญสูงสุดทางด้านสิ่งแวดล้อมต่อทั้งโลก” นับตั้งแต่ความตกลงปารีสว่าด้วยภาวะโลกร้อน เมื่อปี 2015 เป็นต้นมา

เป้าหมายในการประชุมระดับโลกครั้งนี้ก็คือ เพื่อริเริ่มกระบวนการที่จะนำไปสู่ความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยมลพิษจากพลาสติกให้ได้ในที่สุด

ที่มาของความพยายามครั้งนี้ก็คือ ความเป็นจริงที่ว่า “โลกนี้กำลังเต็มไปด้วยขยะพลาสติก” ซึ่งยากต่อการรีไซเคิลเป็นขยะที่ใช้เวลานานมากกว่าจะย่อยสลาย และสิ้นเปลืองอย่างมากที่จะกำจัดไม่ว่าจะด้วยวิธีฝังหรือเผาก็ตามที

เมื่อปี 2017 มีงานวิจัยสำคัญซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Science Advances ระบุเอาไว้ว่า จากปริมาณของพลาสติกที่ผลิตได้ทั้งหมด มีเพียงแค่ 9% เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิล อีก 91% ที่เหลือ ถูกเผาแบบไม่ถูกวิธีหรือไม่ก็ถูกปล่อยทิ้งกลายเป็นขยะฝังอยู่ในดิน ไหลลงสู่แม่น้ำ ท้องทะเลและมหาสมุทร จนกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

Advertisment

ประมาณกันว่าทุกปี ขยะพลาสติกราว ๆ 11 ล้านตันไปลงเอยอยู่ในมหาสมุทร จนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต กลายเป็นสิ่งปนเปื้อนอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งมาลงเอยอยู่ในมนุษย์เราในที่สุด

หากไม่มีการจัดการใด ๆ ปริมาณขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่ว่านี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัวภายในปี 2040 นี้

ผลการศึกษานี้ชี้ว่า ราว 40%ของขยะพลาสติกทั่วโลก คือ พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง จำพวกขวดน้ำดื่ม, ภาชนะใส่อาหาร, ถุงพลาสติก ฯลฯ

ผลการศึกษาของ “เวิลด์ไวด์ ไลฟ์ ฟันด์” เผยแพร่ออกมาในเดือนนี้ ระบุว่า หากยูเอ็นไม่สามารถทำความตกลงเพื่อหาทางยับยั้งมลพิษพลาสติกได้ ขยะพลาสติกก็จะส่งผลเสียหายเป็นวงกว้างภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้า

Advertisment

เสี่ยงต่อการที่สัตว์ทะเลบางชนิดจะสูญพันธุ์ ทำลายระบบนิเวศที่อ่อนไหวอย่างเช่น ปะการังหรือพื้นที่ป่าชายเลน แหล่งกำเนิดเริ่มต้นของวงจรชีวิตสัตว์ทะเลเป็นจำนวนมากที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์

วัตถุประสงค์สำคัญในการประชุมของยูเอ็นอีเอในครั้งนี้ก็คือ พยายามหาทางทำความตกลงในระดับโลก เพื่อควบคุมหรือจำกัดการผลิตพลาสติก ชาติสมาชิกให้คำมั่นสัญญาว่าจะค่อย ๆ ลดการใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง และพลาสติกชนิดที่ยากต่อการรีไซเคิล รวมถึงการตั้งเป้าในการรวบรวมจัดเก็บขยะพลาสติกและเพิ่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติกให้สูงขึ้น

ประเด็นสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคอลทั่วโลกก็คือ ประเด็นเรื่องการจำกัดการผลิตพลาสติก

“อุตสาหกรรมพลาสติก” เป็นอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร็วมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่งของโลก และถูกคาดการณ์ว่า จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าตัวภายใน 20 ปีข้างหน้า

สหรัฐอเมริกา ประเทศที่สร้างขยะพลาสติกต่อคนต่อปีสูงที่สุดในโลก คือประเทศที่มีอุตสาหกรรมพลาสติกขนาดใหญ่ที่สุดของโลกด้วยเช่นกัน

เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีอเมริกา ออกมาเรียกร้องร่วมกับ “เอ็มมานูเอล   มาครง” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ให้โลกบรรลุความตกลงว่าด้วยขยะพลาสติก และยอมรับว่า หัวใจสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ การจำกัดพลาสติกตั้งแต่แหล่งที่มา

กระนั้นสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณใด ๆ ว่าจะจำกัดหรือห้ามการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งในประเทศแต่อย่างใด

ตามรายงานล่าสุดของรอยเตอร์ส ตัวแทนของกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกและปิโตรเคมี อย่างสภาเคมีภันฑ์อเมริกัน (เอซีซี) ในสหรัฐอเมริกา ดำเนินการล็อบบี้เพื่อต่อต้านมาตรการจำกัดการใช้และการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับ “พลาสติกยุโรป” องค์กรทำนองเดียวกันก็แสดงท่าทีต่อต้าน “มาตรการจำกัดเข้มงวดใด ๆ” ที่จะบังคับใช้ทั้งต่อการใช้และการผลิตพลาสติก

โดยพยายามเบนประเด็นไปสู่เรื่องประโยชน์ของพลาสติก และเรื่องความพยายามในการป้องกันไม่ให้พลาสติกหลุดไปสู่สภาพแวดล้อมมากกว่าที่จะมาจำกัดการผลิต

ทั้ง ๆ ที่ถึงตอนนี้มีกว่า 50 ประเทศที่เห็นด้วยกับการห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้งและผลการสำรวจความคิดเห็นบุคคลทั่วไปของสำนักโพลอิปซอสใน 28 ประเทศ เมื่อปี 2019 แสดงให้เห็นว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการห้ามใช้ดังกล่าว

แม้กระบวนการในการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศทำนองนี้อาจกินเวลาอย่างน้อย 2 ปี แต่ที่ต้องจับตาการประชุมที่ไนโรบีครั้งนี้เพราะว่า ที่ประชุมนี้จะเป็นผู้กำหนดว่า สนธิสัญญาหรือความตกลงที่ว่านั้นจะต้องประกอบด้วยประเด็นใดบ้าง

และจะสั่นสะเทือนต่ออุตสาหกรรมพลาสติกและปิโตรเคมีมากน้อยแค่ไหนนั่นเอง