สหรัฐคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่ พุ่งเป้าชนชั้นสูง สถาบันการเงิน กองทุน

REUTERS/Kevin Lamarque

สหรัฐประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่ พุ่งเป้าสถาบันการเงินขนาดใหญ่ 2 แห่ง และชนชั้นสูง ขณะที่ความตึงเครียดในยูเครนเพิ่มสูงขึ้น

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 สื่อต่างประเทศรายงานว่า “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐได้เผยมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ ต่อชนชั้นสูงของรัสเซียและธนาคาร 2 แห่งของรัสเซีย ขณะที่ตะวันตกพยายามหยุดยั้งการรุกรานยูเครนอย่างเต็มกำลัง ด้วยการลงโทษรัสเซียที่ส่งทหารเข้าไปยัง 2 พื้นที่แบ่งแยกในยูเครน ที่รัสเซียเพิ่งรับรองเอกราช

ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรป เยอรมนี และอังกฤษ ได้ประกาศโจมตีรัสเซียด้วยวิธีการทางการเงิน เพราะเกรงว่ารัสเซียจะเดินหน้ารุกรานยูเครนเพิ่มเติม แม้ว่ารัสเซียจะปฏิเสธเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน

วิกฤตความมั่นคงครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่งของยุโรปกำลังทวีความรุนแรง หลังจาก “วลาดีเมียร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย สั่งให้กองทหารรัสเซียเข้าไปในพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนเพื่อรักษาสันติภาพ

ไบเดนกล่าวเมื่อวันอังคารว่า ปูตินกำลังหาเหตุผลที่จะยึดครองดินแดนมากขึ้นด้วยการใช้กำลัง และนี่คือจุดเริ่มต้นที่รัสเซียจะบุกยูเครน

Advertisment

เพื่อตอบโต้ที่รัสเซียไม่ถอนกำลังทหารออกจากเบลารุส ซึ่งอยู่ทางเหนือของยูเครน ไบเดนกล่าวว่า เขาได้อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายกองกำลังและยุทโธปกรณ์ของสหรัฐเพิ่มเติมในยุโรปแล้ว เพื่อเสริมกำลังเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย

“พูดให้ชัดคือ ทั้งหมดนี้เป็นแนวรับทั้งหมดในส่วนของเรา เราไม่มีความตั้งใจจะต่อสู้กับรัสเซีย” เขากล่าวและว่า “เราต้องการส่งข้อความว่า สหรัฐจะร่วมกับพันธมิตร เพื่อปกป้องทุกตารางนิ้วของอาณาเขตนาโต”

ไบเดนกล่าวว่า ตั้งแต่วันพุธเป็นต้นไป สหรัฐจะเริ่มการคว่ำบาตรชนชั้นสูงชาวรัสเซีย และสมาชิกในครอบครัวของพวกเขา โดยสหรัฐจะคว่ำบาตรบุคคล 3 คน ในจำนวนนี้ 2 คนเป็นบุตรชายของข้าราชการระดับสูงของรัสเซีย

ในการประกาศคว่ำบาตรรายบุคคล ไบเดนกล่าวว่า เด็กเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงคนใกล้ชิดของปูติน ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากการทุจริตอันเป็นนโยบายของเครมลิน ดังนั้นพวกเขาจึงควรมีส่วนร่วมต่อความเจ็บปวดนี้”

Advertisment

นอกจากนี้ ไบเดนยังประกาศด้วยว่าสหรัฐจะดำเนินการคว่ำบาตรกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัสเซีย รวมถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของรัสเซีย 2 แห่ง ได้แก่ วีไอบี และพรอมส์เวียสแบงก์

“นั่นหมายความว่าเราได้ตัดรัฐบาลรัสเซียออกจากการจัดหาเงินทุนจากตะวันตก รัสเซียจะไม่สามารถหาเงินจากตะวันตกได้อีกต่อไป และไม่สามารถซื้อขายกองทุนใหม่ในตลาดของเรา หรือตลาดยุโรปได้เช่นกัน”

ทั้งนี้ การคว่ำบาตรกองทุนของรัสเซีย เป็นการต่อยอดจากที่ไบเดนเคยลงนามเมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นการห้ามไม่ให้ธนาคารสหรัฐซื้อขายหุ้นหรือให้กู้ยืมแก่กองทุนรายใหญ่ของรัสเซีย

สำนักข่าวทาสส์ของทางการรัสเซียรายงานว่า พรอมส์เวียสแบงก์ระบุว่า การคว่ำบาตรต่าง ๆ จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากทางธนาคารได้ดำเนินมาตรการป้องกันไว้ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่ได้ให้รายละเอียดใดเพิ่มเติม