
วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ร้อนระอุขึ้นอีกเมื่อปูตินจดปากกาลงนามให้การรับรอง 2 พื้นที่ในแคว้นดอนบัสของยูเครน
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เชแนลนิวส์เอเชียรายงานว่า “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย ลงนามรับรองสถานะความเป็นรัฐอิสระในพื้นที่โดเนตสก์-ลูฮันสก์ พร้อมกับสั่งให้กองทหารเข้าประจำการเพื่อทำหน้าที่ “รักษาสันติภาพ” ในภูมิภาคดอนบัสของยูเครน ที่ยึดครองโดยกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน
ต่อไปนี้คือความหมายโดยนัยที่ซ่อนอยู่ในวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งสหรัฐระบุว่ารัสเซียอาจพร้อมที่จะบุกยูเครนด้วยกำลังทหารมากถึง 190,000 นาย ที่มีการระดมกำลังไว้ตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ
ภูมิภาคที่แยกตัวออกมาคืออะไร ?
กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการหนุนหลังจากรัสเซียในพื้นที่โดเนตสก์-ลูฮันสก์ในภูมิภาคดอนบัสได้แยกตัวออกมาจากการควบคุมของรัฐบาลยูเครนเมื่อปี 2557 และประกาศตนเป็น “สาธารณรัฐประชาชน” ที่เป็นอิสระ แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้รับการประกาศยอมรับ
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมายูเครนเผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากการสู้รบประมาณ 15,000 ราย ขณะที่รัสเซียปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งนี้ แต่ได้สนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนทางทหารอย่างลับ ๆ การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน, การจัดหาวัคซีนโควิด-19 และการออกหนังสือเดินทางของรัสเซียอย่างน้อย 800,000 ฉบับให้กับผู้อยู่อาศัย
นอกจากนี้ ทางการรัสเซียปฏิเสธโดยตลอดเรื่องการวางแผนบุกยูเครน
การรับรองของรัสเซียหมายถึงอะไร ?
เป็นครั้งแรกที่รัสเซียกล่าวว่า รัสเซียไม่ถือว่าดอนบัสเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน ซึ่งอาจเป็นการปูทางให้ทางการรัสเซียส่งกองกำลังทหารเข้าไปยังดินแดนที่แบ่งแยกได้อย่างเปิดเผย โดยใช้เหตุผลว่ารัสเซียเข้าแทรกแซงในฐานะพันธมิตรเพื่อปกป้องดินแดนแห่งนี้จากยูเครน
“อเล็กซานเดอร์ โบโรได” สมาชิกรัฐสภารัสเซียและอดีตผู้นำการเมืองในโดเนตสก์ ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์สเมื่อเดือนที่แล้วว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนจะพึ่งพารัสเซียเพื่อให้ช่วยพวกเขาแย่งชิงอำนาจจากกองกำลังยูเครน หากเป็นเช่นนั้นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครน
กระทบข้อตกลงมินสก์อย่างไร ?
การรับรองของรัสเซียได้ทำลายข้อตกลงสันติภาพมินสก์ ระหว่างปี 2557-2558 ซึ่งแม้จะยังไม่มีการดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว แต่ทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงทางการรัสเซีย เคยเห็นพ้องต้องกันว่า ข้อตกลงนี้เป็นช่องทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ข้อตกลงมินสก์ยังเรียกร้องให้มีการให้อิสระแก่ทั้งสองเมืองในยูเครนด้วย
ชาติตะวันตกตอบโต้รัสเซียอย่างไร ?
หลายเดือนมานี้หลายรัฐบาลของชาติตะวันตกได้ออกมาเตือนทางการรัสเซียว่า การเคลื่อนไหวของทหารรัสเซียบริเวณชายแดนยูเครนจะนำมาซึ่งการตอบโต้ที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรทางการเงิน
“แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การรับรองเอกราชของสองพื้นที่เป็นการบ่อนทำลายอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง
บลิงเคนยังได้เรียกร้องให้รัสเซียเข้าร่วมการเจรจาเพื่อบรรลุการแก้ปัญหาวิกฤตนี้อย่างสันติ อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า จำเป็นต้องมีการตอบสนองอย่างรวดเร็วและหนักแน่นจากสหรัฐและพันธมิตรด้วย
รัสเซียเคยให้การรับรองลักษณะนี้มาก่อนหรือไม่ ?
ก่อนหน้านี้ รัสเซียเคยให้การรับรองอิสรภาพของอับคาเซีย และเซาท์ออสซีเชีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาแบ่งแยกดินแดนในจอร์เจีย การรับรองของรัสเซียในครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากรัสเซียสู้รบกับจอร์เจียในช่วงสั้น ๆ เมื่อปี 2551 โดยรัสเซียได้สนับสนุนงบประมาณกับพื้นที่ดังกล่าว พร้อมให้สัญชาติรัสเซียกับประชากรในพื้นที่ และให้ทหารเข้าไปประจำการหลายพันนาย
ผลได้ผลเสียสำหรับรัสเซีย
ในกรณีของจอร์เจีย รัสเซียใช้การรับรองพื้นที่แบ่งแยกเพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของกองทัพในประเทศอดีตสหภาพโซเวียต เป้าหมายเพื่อขัดขวางไม่ให้จอร์เจียเข้าร่วมนาโต้ คล้ายกับกรณีที่เกิดขึ้นกับยูเครน
ในแง่ผลได้ผลเสีย ทางการรัสเซียต้องเผชิญการคว่ำบาตรและการประณามจากนานาประเทศที่ละทิ้งข้อตกลงสันติภาพมินสก์ หลังจากรัสเซียให้คำมั่นมานานว่าจะดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว นอกจากนี้ รัสเซียยังต้องแบกความรับผิดชอบทั้ง 2 พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสงครามนาน 8 ปี และต้องให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีกำหนด
- รัสเซีย-ยูเครน: คำต่อคำแถลงสะเทือนโลก ปูตินสั่งบุกยูเครน
- ปูติน บุกฟ้าแลบ ส่งทหารรุกพื้นที่โดเนตสก์-ลูฮันสก์
- ปูตินแถลงสะท้านฟ้า รับรองเอกราช 2 แคว้นกบฏยูเครน เมินถูกแซงก์ชั่น