จับตาโฉมหน้าใหม่ “ยูโรโซน 2.0” การประชุมสุดยอดผู้นำ 27 ชาติ

การประชุมสุดยอดผู้นำ 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ล้วนมีแต่เรื่องที่ทำให้ยิ้มไม่ออก ตั้งแต่เรื่อง “เบร็กซิต” ซึ่งจบ “เฟสแรก” แบบเหน็ดเหนื่อยกันทั้งสองฝ่าย แถมอนาคตยังเอาแน่นอนไม่ได้ สาเหตุสำคัญจากการเมืองภายในอังกฤษซึ่งกำลังเขย่าบัลลังก์นายกรัฐมนตรีของ “เทเรซา เมย์” มากขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงกรณี ผู้อพยพที่จนแล้วจนรอด ก็ยังหาฉันทามติไม่ได้

แต่บรรดาผู้นำอียู ก็เหมือนกับกำลังขึ้นขี่หลังเสือ ไม่เพียงหยุดไม่ได้หากยังต้องก้าวต่อไปข้างหน้า ท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดระหว่างประเทศ การประชุมสุดยอดหนนี้ก็ยังมีข้อตกลงสำคัญ ๆ ออกมาให้เห็น อาทิ เรื่องของการรวมกำลังทหารของเกือบทั้งสหภาพฯเข้าด้วยกัน กลายเป็นกองทัพอียู ที่มีพลานุภาพมหาศาล

รวมทั้งความตกลงเบื้องต้นว่าด้วยการ “ปฏิรูปยูโรโซน” ที่บรรดาผู้นำของทั้ง 19 ชาติสมาชิก เห็นตรงกันในหลักการเบื้องต้นว่า “ต้องทำ” ให้ชาติที่ใช้เงินสกุลยูโรแข็งแกร่งมากขึ้น สามารถปกป้องตัวเองจากวิกฤตทางการเงินจากภายนอก และเข้มแข็งพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้นภายใน และเมื่อถึงห้วงคับขัน ยูโรโซน สามารถกลายเป็นหลักในการอุ้มชูเพื่อนบ้านในอียูได้ด้วย

นั่นเป็นเรื่องของหลักการ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกัน แต่พอขยับออกจากจุดดังกล่าว ความแตกต่างของทรรศนะก็แสดงออกมาให้เห็นในทันที โดยเฉพาะจากประเทศที่เป็นแกนหลักของอียูทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น “เอ็มมานูเอล มาครง” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรี “อังเกลา แมร์เคิล” จากเยอรมนี หรือ ประธานกรรมาธิการยุโรป อย่าง ฌ็อง-โคลด ยุงเคอร์ ต่างคนต่างคิดว่า การบูรณาการยูโรโซนให้ลึกซึ้งมากขึ้นนั้นควรเป็นไปในรูปแบบใด

แนวคิดเรื่องการปฏิรูปยูโรโซน ที่ผ่านมามักถูกสกัดด้วยประเด็นทางการเมือง บรรดาชาติร่ำรวยมั่งคั่ง อย่างเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ที่ไม่ยอมเอาด้วยกับแนวทางใด ๆ ที่จะส่งผลให้ตัวเองต้องแบกรับความเสี่ยงจากเพื่อนบ้านที่เต็มไปด้วยหนี้สิน อย่างเช่น ฝรั่งเศส, สเปน, อิตาลี หรือกรีซ

คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน นายกรัฐมนตรี “มาร์ก รุทเทอ” ของเนเธอร์แลนด์ ออกมาย้ำหลังการหารือเรื่องนี้ว่า อย่ามัวแต่พูดถึงเรื่องเงินกันเลย แต่ควรจะพูดถึงเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจมากกว่า

เบื้องหลังคำพูดดังกล่าวก็คือ การเรียกร้องให้แต่ละประเทศที่ตกอยู่ในสภาพง่อนแง่นทางการเงินการคลัง “ปฏิรูปตัวเอง” ซึ่งจะเป็นการ “ปฏิรูปยูโรโซน” ไปในตัว การสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการธนาคารของยูโรโซน โดยใช้วิธีการกำหนดแผน “คุ้มครองเงินฝาก” ทั่วภาคพื้นอียู

นายกรัฐมนตรี “ลีโอ วารัดการ์” แห่งไอร์แลนด์ สนับสนุนแนวทางการจัดตั้ง “สหภาพการธนาคาร” แห่งยุโรป โดยอ้างว่าจะเป็นการป้องกันวิกฤตที่ได้ผลชะงัก “หากธนาคารในยุโรปหรือบางประเทศเกิดปัญหา เราจะยืนหยัดอยู่ด้วยกัน ให้การป้องกันเงินออมของประชาชนทุกคนทุกบาททุกสตางค์”

แน่นอน ประเทศอย่างเยอรมนีหรือเนเธอร์แลนด์ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ โดยอาศัยข้ออ้างสำคัญที่ว่า การค้ำประกันเงินฝากจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อความเสี่ยงในภาคธนาคาร “ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ” ระดับหนี้เสียต้องลด และต้องมีการปรับน้ำหนักความเสี่ยงของพันธบัตรรัฐบาลให้เกิดการพักชำระหนี้ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

แนวความคิดปฏิรูปที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับ “ยกเครื่องยูโรโซน” มาจากผู้นำประเทศอย่างฝรั่งเศส, สเปน รวมถึงบรรดาแกนนำของสหภาพยุโรป อย่างเช่น โดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป

ทัสก์ นำเสนอแนวคิดเปลี่ยนกองทุนเงินกู้ฉุกเฉิน หรืออีเอสเอ็มของยูโรโซน ให้อยู่ในรูปของกองทุนการเงินแห่งยุโรป (อีเอ็มเอฟ) ทำหน้าที่คล้ายกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดยจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของบรรดาธนาคารในยูโรโซน และปล่อยกู้ฉุกเฉินเมื่อเกิดวิกฤตร่วมกับคณะกรรมาธิการแห่งยุโรป ตัดการทำหน้าที่ของ ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) และไอเอ็มเอฟออกไป ป้องกันการเกิดขัดแย้งกันขึ้นแบบเดียวที่เกิดขึ้นในกรณีปล่อยกู้ให้กับกรีซครั้งล่าสุด

“เอ็มมานูเอล มาครง” แห่งฝรั่งเศสนำเสนอยิ่งไปกว่านั้น นั่นคือ เสนอให้มีการจัดตั้ง “งบประมาณรวมยูโรโซน” เป็นมูลค่าหลายแสนล้านยูโร เสนอให้จัดตั้ง “กระทรวงการคลังแห่งยูโรโซน” แน่นอนต้องมี “รัฐมนตรีคลังยูโรโซน” ทำหน้าที่บริหารจัดการ, ก่อตั้งสำนักงานทำหน้าที่กำกับดูแลโดยรัฐมนตรีคลังดังกล่าว เพื่อทำหน้าที่ “ออกพันธบัตรยูโรโซน”,ให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนโครงการสาธารณะ และทำหน้าที่เป็นสถาบันหลักในการรับมือกับภาวะ “ช็อกทางเศรษฐกิจ” ในอนาคต

แน่นอนว่าโฉมหน้าที่แท้จริงของยูโรโซน เวอร์ชั่นใหม่ จะออกมาในรูปใด ต้องรอความสุกงอมและการประนีประนอมทางการเมืองเป็นสำคัญ ที่น่าสนใจคือ แม้แต่คนอย่าง แมร์เคิลก็ยังมีปัญหาการเมืองภายในว่าด้วยการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ยังไม่ลงตัวและมีประเด็นว่า การปฏิรูปยูโรโซน เป็นเงื่อนไขสำคัญของการรวมตัวจัดตั้งรัฐบาลเยอรมนี

อนาคตของยูโรโซน จึงไม่เป็นเพียงอนาคตของเงินสกุลยูโร แต่อาจรวมไปถึงอนาคตของการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป และยังเป็นเครื่องบ่งชี้อนาคตของเยอรมนี จะทำอย่างไรถึงจะได้ส่วนผสมที่ลงตัว ผลักดันให้ทุกอย่างเคลื่อนไปข้างหน้าได้ โดยที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ถือเป็นความท้าทายมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อแมร์เคิลประกาศว่าจะ “เสนอแผนปฏิรูปร่วม” กับฝรั่งเศสเป็นแผนเดียวในเดือนมีนาคมปีหน้า เพื่อให้ที่ประชุมในเดือนมิถุนายนได้ตัดสินชี้ขาด

ยูโรโซน 2.0 จะออกมาในรูปไหน น่าจับตามองอย่างยิ่ง