
ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โต 5% ในปี 2022 ชี้สงครามยูเครน-เงินเฟ้อ บั่นทอนฟื้นตัว
วันที่ 6 เมษายน 2565 ธนาคารโลก (World Bank) เปิดรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ว่ามีแนวโน้มเติบโต 5% ในปี 2022 ท่ามกลางการความเสี่ยงของโควิด-19 ภาวะการเงินที่ตึงตัวกว่าเดิม และสงครามรัสเซีย-ยูเครน
- ประกาศใหม่ ผลประโยชน์ตอบแทนบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตน ม.33,39
- ยุบสภา บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้สิทธิ 1 เม.ย.ตามเดิมหรือไม่ คลังชี้แจงแล้ว
- ไทยพาณิชย์ เตือนลูกค้าอัประบบปฏิบัติการ iOS และ Android ตั้งแต่ 24 มี.ค.
“ภาวะตื่นตระหนกจากสงครามในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้อุปทานสินค้าโภคภัณฑ์หยุดชะงัก เพิ่มความตึงเครียดทางการเงิน และบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก” ธนาคารโลกระบุ
มานูเอลา วี. เฟอร์โร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่าสงครามในยูเครนกำลังส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโต ขณะหลายประเทศในภูมิภาคกำลังฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคระบาดใหญ่ โดยรากฐานและนโยบายที่แข็งแกร่งจะช่วยภูมิภาคผ่านพ้นอุปสรรคนี้
ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงของสหรัฐ อาจกระตุ้นภาวะตึงตัวทางการเงินเร็วกว่าที่คาด ซึ่งอาจเหมาะสมกับสหรัฐ แต่ในเวลานี้ยัง “เร็วเกินไป” สำหรับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่การฟื้นตัวยังไม่สมบูรณ์ โดยความเสี่ยงภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อสกุลเงินของบางประเทศ อาจทำให้เกิดภาวะตึงตัวทางการเงิน “ก่อนเวลาอันควร”
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะชะลอตัวสู่ 5% ในปี 2022 ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนตุลาคมราว 0.4 จุด และหากภาวการณ์ทั่วโลกเลวร้ายลง (Low case) ประกอบกับการรับมือทางนโยบายระดับชาติอ่อนแอ อาจส่งผลให้ตัวเลขดังกล่าวชะลอตัวอยู่ที่ราว 4%
ทั้งนี้ ธนาคารโลกเรียกร้องรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ยกระดับประสิทธิภาพของนโยบายการคลังเพื่อการฟื้นฟูและการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งของนโยบายระดับมหภาคเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะตึงตัวทางการเงินทั่วโลก
นอกจากนั้นธนาคารโลกยังเรียกร้องเหล่าผู้กำหนดนโยบายปฏิรูปนโยบายที่เกี่ยวกับการค้าสินค้า โดยเฉพาะภาคบริการ เพื่อใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์การค้าโลก และกระตุ้นการกระจายตัวของเทคโนโลยี