อินโดฯ คาดยกเลิกห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

น้ำมันปาล์ม
REUTERS/Willy Kurniawan/File Photo

บอร์ดน้ำมันปาล์มอินโดนีเซียคาด รัฐบาลอาจยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคได้ภายในสิ้นเดือน พ.ค. นี้ หากราคาในประเทศถูกลง

วันที่ 29 เมษายน 2565 รอยเตอร์รายงานว่า หลังจากที่อินโดนีเซียซึ่งเป็นชาติส่งออกน้ำมันปาล์มสำหรับปรุงอาหารรายใหญ่ของโลก ประกอบห้ามการส่งออกกน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อพยุงราคาจากปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเพื่อการบริโภคในประเทศ จนส่งผลให้ตลาดโดยเฉพาะสินค้าบริโภคเกิดความหวั่นวิตก

เนื่องจากน้ำมันปาล์มถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมผลิตอาหาร รวมถึงการใช้งานในครัวเรือน ความวิตกดังกล่าวทำให้เมื่อ 25 เมษายนที่ผ่านมา สัญญาส่งมอบน้ำมันปาร์มล่วงหน้าที่ตลาดซื้อขายในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม พุ่งขึ้น 6% แตะที่ระดับ 6,738 ริงกิต (1,550 ดอลลาร์) ต่อตัน ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม

ล่าสุด ซาฮัต ซินากา เจ้าหน้าที่อาวุโสคณะกรรมการน้ำมันปาล์มแห่งชาติอินโดนีเซีย เปิดเผยต่อรอยเตอร์ โดยประเมินว่ารัฐบาลจาการ์ตา อาจผ่อนคลายกฎคุมเข้มการส่งออกดังกล่าวภายในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ หรือราว 3 สัปดาห์หลังสิ้นสุดเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม โดยเชื่อว่าผลผลิตปาล์มล็อตใหม่จะออกสู่ตลาดมากขึ้นประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศเริ่มลดลง

“อินโดนีเซียจะสามารถจัดการกับปัญหาการขาดแคลนน้ำมันสำหรับประกอบอาหารได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และยกเลิกการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์กลั่นในเดือนพฤษภาคมนี้” ขณะเดียวกันบอร์ดปาล์มอินโดฯ ยังคาดว่า อินโดนีเซียในฐานะชาติส่งออกปาล์มน้ำมันรายใหญ่ของโลก จะสามารถบรรลุเป้าหมายการส่งออกน้ำมันปาล์มที่ 34 ล้านตันภายในสิ้นปี 2565 นี้จากอานิสงส์ความต้องการปาล์มน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น

สอดคล้องกับ เวรี อังกรีโจโน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการพาณิชย์อินโดฯ กล่าวว่า “เราทุกคนหวังว่าสิ่งนี้จะสามารถแก้ไขได้โดยเร็ว” โดยตามประกาศห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียระบุว่า กระทรวงพาณิชย์อินโดฯ จะมีการทบทวนมาตรการห้ามส่งออกในทุกเดือน หรือบ่อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันปาล์มในประเทศ ก่อนจะค่อยผ่อนปรนมาตรการห้ามส่งออก

ด้านแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจอินโดนีเซีย กล่าวว่า อาจมีการยกเลิกการห้ามส่งออก เมื่อราคาน้ำมันสำหรับประกอบอาหารที่จำหน่ายในประเทศมีราคาลดลงเหลือ 14,000 รูเปียห์ (0.97 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อลิตร โดยขณะนี้ราคาน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคในกรุงจาการ์ตาจากการสำรวจในวันพฤหัสบดีอยู่ที่ระหว่าง 19,000 ถึง 20,000 รูเปียห์ต่อลิตร