สหรัฐเดินเกม Friend-shoring รูปแบบใหม่ “ห่วงโซ่อุปทาน”

เจเน็ต เยลเลน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ก่อนจะมีโควิด-19 จีนเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบและชิ้นส่วนต่าง ๆ รวมถึงสินค้าสำเร็จรูปให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จนได้ฉายาว่า “โรงงานของโลก” ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้งอเมริกาและยุโรปล้วนพึ่งพาจีนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม นับจากเกิดโควิด-19 ซึ่งจีนต้องล็อกดาวน์และหยุดการผลิตเพื่อควบคุมโรค ทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน ที่ยังคงเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน

ปัญหานี้นำไปสู่การทบทวนรูปแบบของห่วงโซ่อุปทานของหลายประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกา โดย “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐได้ลงนามในคำสั่งเมื่อต้นปีที่แล้ว ที่จะทบทวนห่วงโซ่อุปทานของอเมริกา เป้าหมายก็คือลดการพึ่งพาซัพพลายเออร์ต่างประเทศ หรือพูดให้เจาะจงก็คือ “ลดพึ่งพาจีน”

ยิ่งเมื่อเกิดกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน ทำให้ความจำเป็นที่จะปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานมีความเร่งด่วนมากขึ้น

“เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ซึ่งเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มจี 20 ที่อินโดนีเซียเมื่อเร็ว ๆ นี้ ถือโอกาสนี้ทัวร์ประเทศพันธมิตรในเอเชียทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่เยลเลนยกขึ้นมาหารือกับทั้งสองประเทศก็คือ การแก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งที่เกาหลีใต้นั้น เยลเลนยังได้ไปเยือนบริษัทแอลจี และกล่าวสุนทรพจน์ โดยย้ำว่าสหรัฐและคู่ค้าที่ไว้วางใจได้ มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความยืดหยุ่นด้านห่วงโซ่อุปทานผ่าน “friend-shoring”

“ความยืดหยุ่นด้านห่วงโซ่อุปทานเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบันมุ่งเน้น สิ่งนี้มีความจำเป็นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงสองปีที่ผ่านมา หลังจากเกิดโควิด-19 และในตอนนี้ตามมาด้วยรัสเซียรุกรานยูเครนอย่างโหดร้าย ทั้งสองปัจจัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของห่วงโซ่อุปทานและการค้า ดังนั้นการร่วมมือกับพันธมิตรและคู่ค้าผ่าน friend-shoring จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาความมีพลวัตและการเติบโตด้านผลิตภาพได้อย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าว

คำว่า friend-shoring ได้แนวคิดมาจากคำว่า onshoring และ nearshoring ซึ่งหมายถึง การเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานกลับบ้านหรือใกล้บ้าน ซึ่งตรงข้ามกับการใช้ห่วงโซ่อุปทานของต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม คำว่า friend-shoring มีความเจาะจงกว่า โดยจะจำกัดเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานไว้เฉพาะพันธมิตร (allies) และประเทศที่เป็นมิตร (friendly)

แนวคิดดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “เศรษฐกิจโลกอาจเกิดการแยกตัวจากกัน” โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐและประเทศอื่น ๆ พากันหลีกเลี่ยงที่จะพึ่งพาจีนมากเกินไป อย่างไรก็ตาม เยลเลนยืนยันว่า มาตรการดังกล่าวไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ว่าอเมริกาจะถอนตัวจากการค้าโลก แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศที่เป็นมิตรต่าง ๆ พยายามป้องกันความผันผวนเปราะบางในระยะยาวเพื่อทำให้เศรษฐกิจเกิดดอกออกผลมากขึ้น ปกป้องชาวอเมริกันและประเทศที่เป็นมิตรจากปัญหาการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าและบริการอันเนื่องมาจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์บางคนโต้แย้งว่า มาตรการดังกล่าวอาจทำให้การค้ามีความเสรีน้อยลง และอาจส่งผลร้าย หากประเทศใดก็ตามรู้สึกว่าถูกกีดกันออกจากความสัมพันธ์ผ่านมาตรการ friend-shoring อาจจะจำกัดการขายสินค้าเป็นการตอบโต้

“เดบอราห์ เอล์ม” ผู้อำนวยการบริหารศูนย์กลางการค้าเอเชียในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า friend-shoring อาจถูกตีความผิดไป ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าจะส่งผลกระทบอย่างไร ทั้งนี้ถ้าหากคำนี้แค่หมายถึงการที่รัฐบาลกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ตัดสินใจจัดหาซัพพลายจากแหล่งที่มีความเสี่ยงน้อยลง ก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้าเมื่อไหร่มาตรการนี้ถูกยกระดับไปเป็นนโยบายของรัฐบาลโดยที่ให้สิทธิพิเศษบางประเทศมากกว่าประเทศอื่น ก็อาจเป็นปัญหาได้

โคลิน แมกเคอร์ราส อาจารย์มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ออสเตรเลีย ระบุว่า สหรัฐควรพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ มากกว่าเพิ่มความสัมพันธ์กับประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะและกีดกันประเทศอื่นออกไป

“การรวมกลุ่มที่สมเหตุสมผลที่สุดต้องรวมจีนเข้ามาด้วย ไม่ใช่กีดกันออกไป เพราะจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียและในอนาคตจะอยู่ระดับบนของโลก ดังนั้นควรร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่แข่งขันกัน”