เศรษฐา ทวีสิน: When Business Kills

สหรัฐ ประท้วง
คอลัมน์ : คิดไปข้างหน้า
ผู้เขียน : เศรษฐา ทวีสิน

 

ประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่หลาย ๆ คนให้คุณค่าและมองว่าเป็นสังคมในอุดมคติ การเปิดเสรีนี้เองที่ทำให้ภาคธุรกิจของสหรัฐมีความหลากหลายและแข่งขันกันสูง แต่การที่มีเสรีภาพมากจนเกินไปอาจทำให้ความมั่งคั่งของธุรกิจบางประเภทกลายเป็นต้นตอของโรคร้ายที่ยังหาทางแก้ไม่ได้ ประเด็นนี้มีตัวอย่างชัดเจน คือ ธุรกิจค้าขายอาวุธปืนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิแก่ชาวอเมริกันในการครอบครองปืนได้อย่างเสรี

CNN รายงานว่า ตั้งแต่ต้นปีมานี้ในสหรัฐมีกรณีการกราดยิง (mass shooting) กว่า 246 กรณี ส่งผลให้มีคนถูกยิง 1,357 ราย เสียชีวิตถึง 278 ราย แต่ถ้านับตัวเลขผู้เสียชีวิตทุกรายการจากอาวุธปืนแล้วจะพุ่งขึ้นไปถึงกว่า 18,800 ราย (จากที่สถิติเก็บได้) ทำให้การเข้าถึงอาวุธปืนยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่าจะควบคุมอย่างไรให้รัดกุมกว่านี้

ลองหาข้อมูลดูจะพบว่าวัฒนธรรมการครอบครองอาวุธปืนของชาวอเมริกันเป็นผลมาจากการต่อสู้เพื่ออิสรภาพหลายร้อยปีก่อน ความขัดแย้งระหว่างชาวพื้นถิ่นต่างเผ่า มีการแย่งชิงทรัพยากร ดินแดน “อาวุธปืน” กลายเป็นสิ่งจำเป็น ส่งผลให้ชาวอเมริกันจำนวนมากมองว่า “การครอบครองปืนคือสิทธิเสรีภาพที่พวกเขามีตามกฎหมาย” มาแต่ไหนแต่ไร

และยังถูกนำมาอ้างอิงในบริบทจากที่ได้ศึกษาผมเข้าใจว่ากฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐระบุเอาไว้แค่ว่า ร้านขายอาวุธปืน (ที่มีใบอนุญาตถูกต้อง) ห้ามขายปืนพกให้แก่บุคคลที่อายุต่ำกว่า 21 ปี แต่สามารถขายปืนยาว (ไรเฟิล ลูกซอง) ให้บุคคลที่มีอายุอย่างน้อย 18 ปีได้ แต่หากเป็นบุคคลที่ไม่มีใบอนุญาตสามารถขาย ส่งมอบ หรือโอนปืนยาวให้ใครก็ได้โดยไม่จำกัดอายุ (พ่อส่งต่อให้ลูก ฯลฯ)

เอาเป็นว่าการครอบครองอาวุธปืนมันช่างง่ายเสียเหลือเกิน ซึ่งถ้าเราเอาปัจจัย “วุฒิภาวะที่ยังต่ำ” ของเด็กวัยรุ่น บวกกับ “สื่อสังคมออนไลน์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง” และ “สภาพแรงกดดันทางสังคม” จะเห็นได้ว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่จะกลายเป็นหายนะ

ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ราคาของอาวุธปืนในสหรัฐเองก็ย่อมเยาลงมากด้วย แถมยิ่งตอนนี้บรรดาแพลตฟอร์ม “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” (buy now pay later) ที่กำลังได้รับความนิยมก็เข้ามาจับตลาดการซื้อขายอาวุธปืนด้วย ทำให้ผู้ซื้อสามารถแบ่งจ่ายงวดสินค้าในยอดที่เล็กลงได้โดยง่ายไม่ต้องพึ่งพาเครดิตเลยแม้แต่น้อย ทำให้อาวุธปืนกลายเป็นของที่เข้าถึงง่ายมากสำหรับทุก ๆ คน โดยสถิติเขาบอกว่าอเมริกามีสัดส่วนปืน 1 กระบอกต่อประชากร 1 คนเลยทีเดียว

การแก้ปัญหาที่ประเด็นกฎหมายว่าด้วย “สิทธิในการครอบครองอาวุธปืน” เป็นเรื่องที่น่าจะมีอุปสรรคทางด้านการเมืองและโดนต่อต้านว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ ทางเลือกที่ดีกว่าน่าจะเป็นเรื่องการเชื่อมโยงและประเมินข้อมูลด้านสังคมรายบุคคลแบบบูรณาการ เช่น ประวัติการใช้ความรุนแรง ข้อมูลปัญหาครอบครัว รายงานปัญหาภายในสถานศึกษา ฯลฯ เพื่อเอามาใช้เช็กประวัติผู้ที่ต้องการครอบครองอาวุธปืน นี่เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก

หรือไอเดียง่าย ๆ เช่น การประวิงเวลาในการครอบครองอาวุธ จ่ายเงินซื้อแล้วต้องรอ 2 สัปดาห์ก่อนที่จะได้รับอาวุธเพื่อที่ให้ผู้ซื้อได้ใช้เวลาไตร่ตรองหรือทำใจให้เย็นลง และทางผู้ขายมีโอกาสในการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานศึกษา หน่วยงานทางด้านสวัสดิการ ฯลฯ เพื่อจัดกลุ่มบุคคลเป็นกลุ่มเฝ้าระวังและเข้าจัดการปัญหาที่ต้นเหตุ พวกนี้ผมก็ว่าช่วยได้และน่าจะได้รับการต่อต้านน้อยกว่าการที่จะไปแตะเรื่อง “สิทธิ” อันเป็นเหมือนการวิ่งชนกำแพงในประเทศที่เน้นเรื่องเสรีภาพอย่างอเมริกา

เรื่องนี้เป็นเพียงอีก 1 กรณีศึกษาที่ดีสำหรับเรา เมื่อใดที่สังคมหย่อนเรื่องมนุษยธรรม จริยธรรม ปล่อยให้แรงกดดันทางธุรกิจบิดเบือนกฎเกณฑ์ให้หละหลวมและมีช่องโหว่ เมื่อนั้นแหละครับที่ความหายนะทางสังคมจะเกิดขึ้น