‘ฮ่องกง’ หนักกว่า ‘อู่ฮั่น’ COVID Zero ทุบธุรกิจโคม่า

ฮ่องกง เขตบริหารพิเศษภายใต้ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” บัดนี้ได้กลายเป็น “หนึ่งประเทศ หนึ่งระบบ” ทั้งในแง่การเมืองและการรับมือกับโควิด-19 เป็นเรียบร้อย

จากการที่ฮ่องกงถูกปักกิ่งบีบให้ต้องใช้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” (COVID Zero) แบบเดียวกับที่จีนแผ่นดินใหญ่ใช้อยู่จนประสบความสำเร็จถึงปัจจุบัน ทว่าด้วยสถานะเขตบริหารพิเศษที่มีความเสรีด้านการเงินและการค้ามาอย่างยาวนาน การใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างเข้มงวดตามแนวทางของแผ่นดินใหญ่ กำลังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจของเกาะแห่งนี้

หากติดตามสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะเห็นข้อมูลการระบาดของเชื้อมีความย้อนแย้งกันระหว่างแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น กับการระบาดที่แผ่วลง ในต่างประเทศหลายชาติจะพบว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนแม้จะมีอัตราติดเชื้อสูง

แต่จำนวนคนป่วยหนักและเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง ดังจะเห็นได้ว่าหลายชาติคืบหน้าในการปรับนโยบาย หันมาเปิดประเทศ พร้อมคลายเข้มงวดข้ามพรมแดนมากขึ้นตามลำดับ

“ฮ่องกง” กำลังเผชิญกับการระบาดที่ขยายวงกว้างกว่าการระบาดในเมืองอู่ฮั่น โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2022 สูงถึง 7,533 ราย เป็นการพุ่งสูงขึ้นในเวลาไม่ถึงเดือนหลังรัฐบาลบังคับให้ทั้งเกาะเข้าตรวจเชื้อ กักกัน และเข้ารักษาตัว ผู้ที่ติดเชื้อโควิดแม้จะมีอาการเพียงเล็กน้อยจนถึงไม่มีอาการก็ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

Advertisment

แต่ด้วยตัวเลขป่วยใหม่รายวันที่สูงขึ้น ฮ่องกงจำต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยให้ผู้ที่ไม่มีอาการเข้ารับการกักตัวภายในโรงแรมหรือที่บ้านแทน ขณะเดียวกันก็มีแผนเปลี่ยนเทอร์มินอลท่าเทียบเรือสำราญ ซึ่งร้างจากการต้อนรับนักท่องเที่ยวมานาน ให้เปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลสนามแทน

บรูซ แปง หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านมหภาคและกลยุทธ์ของ China Renaissance Securities กล่าวว่า มีแนวโน้มที่ฮ่องกงจะยังคงใช้แนวทางนี้ต่อไป ซึ่งแม้ดูเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมในช่วงแรก (ของการระบาด) แต่ตอนนี้ไม่เหมาะสมอีกต่อไป

“โควิดซีโร่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของฮ่องกงทำให้ชะลอการฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมค้าปลีก การท่องเที่ยว การค้าขาย ขนส่ง บริการทางการเงิน และภาคบริการแรงงานมีฝีมือ จนส่งผลให้เกิดปัญหาราคาอาหารนำเข้าพุ่งสูงขึ้น จนกระทั่งขาดแคลนเป็นอีกประเด็นที่น่ากังวล” แปงกล่าว

“แคร์รี่ แลม” ผู้บริหารฮ่องกงยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีแผนปิดเมืองล็อกดาวน์ในวงกว้าง แต่ก็เตรียมใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์หลายประการ อาทิ การสั่งปิดร้านตัดผม หรือจำกัดเวลานั่งรับประทานอาหารในร้านในช่วงสัปดาห์หน้า

Advertisment

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ “ฟิตซ์ เรตติ้งส์” ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกงลงครึ่งหนึ่งเหลือ 1.5% ซึ่งทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงอยู่ในกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่มีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอที่สุดในโลก

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาอาหารสดในฮ่องกง เช่น เนื้อสัตว์และผักพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากคนขับรถบรรทุกมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกที่ชายแดนจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมาก

บรรดาเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กกำลังเข้าสู่ภาวะโคม่า จากผลกระทบโควิดเข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งยังไร้วี่แววสิ้นสุด “ไซม่อน หว่อง คา-โว” ประธานสหพันธ์ร้านอาหารและการค้า คาดการณ์ว่าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กจะปิดตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าจะมีร้านอาหารมากถึง 500 แห่งที่ต้องปิดตัวในเดือน มี.ค.

“วิลสัน แปง” หนึ่งในผู้ประกอบการร้านตัดผมที่ได้รับผลกระทบ เพราะธุรกิจร้านทำผมกำลังจะถูกสั่งปิดภายในสัปดาห์หน้าจากมาตรการของรัฐ ซึ่งก่อนหน้าโควิดระบาดในปี 2020 แปงถือว่าประสบความสำเร็จจากการเป็นเจ้าของร้านตัดผม 2 สาขา ช่วงล็อกดาวน์คราวก่อนเขาสูญเสียรายได้จากทั้งสองสาขาถึงวันละ 30,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว123,000 บาท

เช่นเดียวกับช่างทำผมส่วนใหญ่ แปงเริ่มให้บริการตัดผมถึงบ้านแต่นั่นก็เสี่ยงกับการละเมิดกฎเว้นระยะทางสังคมของรัฐบาลที่อาจถูกค่าปรับถึง 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ค่าปรับนี้เท่ากับรายได้พื้นฐานของช่างทำผมหลายราย

แปงยอมรับว่า เขายังไม่รู้ชะตากรรมของธุรกิจตัวเองว่าจะรอดพ้นวิกฤตรอบนี้หรือไม่ เช่นเดียวกับ เอียน ซุย และหุ้นส่วนของเขาซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นยอมรับว่า มาตรการห้ามนั่งกินอาหารในร้านตั้งแต่หลังเวลา 18.00 น.

ทำให้ธุรกิจตกในภาวะเสี่ยงรายได้ลดลงมากกว่า 80% จากช่วงปกติ อีกทั้งยังถูกปัญหาขาดแคลนสินค้านำเข้าผ่านพรมแดนซ้ำเติม ต้นทุนวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นพุ่งสูงอีก 20% จากเดือนธันวาคมปีก่อน จากการระงับเที่ยวบินขนส่งสินค้าทำให้ซัพพลายเชนหยุดชะงัก

“แม้ก่อนหน้านี้ร้านอาหารจะได้รับอนุญาตให้เปิดตามปกติ แต่การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเพียงครั้งเดียว ฉุดเรากลับไปสู่จุดวิกฤตได้ นั่นเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังที่สุดคุณแทบมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ โควิดไม่ใช่โรคระบาดที่น่ากลัวแต่นโยบายคุมระบาดจากระบบการเมืองต่างหากที่น่ากลัว”