หายสงสัย! ทำไมคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจฯ ม.กรุงเทพ จึงเป็น “ตัวจริง” สถาบันปั้นผู้ประกอบการ

     ในยุคที่เทคโนโลยีหลากหลายถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ทดแทนแรงงานคน ส่งผลให้หลายอาชีพล้มหายไปจากตลาดงาน กระทั่งคำว่า “อาชีพมั่นคง” เหมือนจะไม่มีอีกต่อไป

     คนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงมองว่า อาชีพหนึ่งที่ยั่งยืนย่อมหนีไม่พ้น “เจ้าของธุรกิจ” เพราะไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร สอดคล้องกับผลสำรวจชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า คนไทยรุ่นใหม่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจราว 36% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าคนรุ่นใหม่ในประเทศอาเซียนอื่นๆ ถึง 13% ทว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้นั้นไม่อาจอาศัยโชคช่วย แต่ต้อง “ทำเป็น” เท่านั้น   

     ในฐานะที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพชูจุดยืนการปลูกฝังแนวคิดแบบสร้างสรรค์และคิดแบบเป็นเจ้าของให้นักศึกษามาช้านาน คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ ม.กรุงเทพ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า BUSEM (Bangkok University School of Entrepreneurship and Management) จึงได้รับความไว้วางใจจากคนรุ่นใหม่ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจตลอดมา และนี่คือเหตุผลที่ทำให้คณะนี้ขึ้นชั้น “ตัวจริง” สถาบันปั้นเจ้าของธุรกิจของไทย

BUSEM Way ผสานไอเดียการสร้างธุรกิจจากสองซีกโลก

     ความสำเร็จของ BUSEM เกิดขึ้นได้เพราะพัฒนาองค์ความรู้มาจากหลักสูตรของ Babson College สถาบันอันดับ 1 ด้านการสร้างเจ้าของธุรกิจของอเมริกาที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี โดยให้นักศึกษาฝึกสร้างไอเดียทำผลิตภัณฑ์ ทำแผนธุรกิจ ลงมือธุรกิจทำจริง และต่อยอดอย่างเป็นลำดับขั้นตอนตามแนวทางของ Babson ก่อนผสานเข้ากับแนวคิดการสร้างธุรกิจภายใต้บริบทของไทย ทำให้ได้ผลลัพธ์เป็น BUSEM Way หลักสูตรที่มีความลงตัวและเหมาะสมกับการทำธุรกิจทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

ประสบการณ์จากเครือข่ายนักธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ความรู้ที่หาไม่ได้จากตำรา

     BUSEM มีความเชื่อว่า การทำธุรกิจจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลย ถ้าไม่ได้เรียนรู้จากตัวจริง อาจารย์ของคณะทุกคนจึงล้วนมีธุรกิจเป็นของตัวเอง พร้อมจะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในทุกมิติ และระดมเครือข่ายนักธุรกิจจากกิจการทุกประเภทไว้ให้แก่นักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจบริการ หรือแม้แต่ Tech Startup นอกจากนี้ทางคณะยังตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาเจ้าของธุรกิจ หรือ BUSEM Center for Entrepreneurship (BCE) ไว้ให้คำปรึกษาโดยเมนเทอร์ที่เป็นนักธุรกิจ ตลอดปีมีการจัดกิจกรรมทั้งเวิร์กช็อป เสวนา และทัศนศึกษา เพื่อให้นักศึกษาตกผลึกความคิดทางธุรกิจ ซึ่งนับเป็นความรู้ที่หาซื้อจากที่ไหนไม่ได้

ทำจริง ขายจริง สร้างความเชี่ยวชาญและเสริมภูมิคุ้มกัน   

     ในชั้นปีที่ 3 นักศึกษาต้องรวมกลุ่มกันเพื่อทำธุรกิจ ภายใต้การกำกับดูแลและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดของเมนเทอร์ ก่อนนำไปขายจริงในงาน Retail Fair ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย สำหรับนักศึกษาที่มีทุนทรัพย์ไม่พอทำธุรกิจ ทางคณะก็จะให้กู้ยืมเงินโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยกลุ่มละ 100,000 บาท การที่เด็กได้ทำธุรกิจจริงจะช่วยปลูกฝังทักษะและวิสัยทัศน์เจ้าของกิจการตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ได้ลองผิดลองถูกเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับการทำธุรกิจในอนาคต พอสำเร็จการศึกษา จึงสามารถประกอบธุรกิจของตัวเองหรือสานต่อธุรกิจของครอบครัวได้ทันที

     รู้อย่างนี้คงหายสงสัยกันแล้วว่า ทำไม BUSEM จึงเป็น “ตัวจริง” สถาบันปั้นเจ้าของธุรกิจของไทยติดต่อกันมานานหลายปี (รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก https://www.bu.ac.th/th/busem/)