“อินเดีย” รุกกระชับ “อาเซียน” คานอำนาจ “มังกรจีน”

ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียพยายามโปรโมตความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 อย่างแข็งขัน ตั้งแต่ระดับเยาวชนไปจนถึงระดับรัฐ และในสัปดาห์นี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาล “นเรนทรา โมดี” เปิดประเทศต้อนรับผู้นำระดับสูงจาก 10 ประเทศอาเซียน เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ในโอกาสครบรอบ 25 ปีความสัมพันธ์อาเซียนอินเดีย

การประชุมครั้งนี้สิงคโปร์นั่งเก้าอี้ประธานการประชุมในฐานะประธานอาเซียน โดยมีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือและความมั่นคงทางทะเล” และการประชุมเต็มคณะ “อาเซียน-อินเดีย คุณค่าร่วมกัน เป้าหมายเดียวกัน”

ในที่ประชุมจะมีการรับรองเอกสาร คือ “ร่างปฏิญญาเดลี” เพื่อเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำที่จะเสริมสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับอินเดียในสามเสาหลัก ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม

รัฐบาลโมดี คาดหวังไว้มากว่าการประชุมครั้งนี้ จะสามารถกระชับความสัมพันธ์ทางด้านการค้าได้ไม่มากก็น้อย ขณะเดียวกันก็เล็งเห็นโอกาสใช้การประชุมครั้งนี้ เพิ่มความร่วมมือกับอาเซียนในทุกด้าน และเพื่อขยายอิทธิพลของตนเองในเอเชีย

โมดีให้เกียรติผู้นำจากอาเซียนถึงขั้นเชิญให้เข้าร่วมขบวนพาเหรดงานวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดียครั้งที่ 69 ในวันที่ 26 มกราคมนี้ ณ กรุงนิวเดลีผู้นำอาเซียนที่ไปร่วมงานส่วนใหญ่เป็นระดับผู้นำประเทศ เช่น “โจโก วิโดโด” จากอินโดนีเซีย “นาจิบ ราซัค”จากมาเลเซีย “ร็อดริโก ดูแตร์เต” จากฟิลิปปินส์ “ออง ซาน ซู จี” ผู้นำเงาจากเมียนมา และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประเทศไทย

โมดีได้กล่าวสุนทรพจน์ในวันสิ้นปี 2017 ว่า งานวันชาติปีนี้จะพิเศษกว่าปีไหน ๆ เพราะได้ผู้นำ 10 ชาติอาเซียนมาร่วมขบวนด้วย และเชื่อว่าเหตุการณ์วันชาติปีนี้จะกลายเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์สำคัญของอินเดีย

นักวิเคราะห์เชี่ยวชาญด้านการเมืองอินเดีย ให้ความเห็นว่า นี่คือการเคลื่อนไหวของโมดีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รัฐบาลพยายามกระชับมิตรกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างสุดความสามารถ อันน่าจะเกิดขึ้นจากความหวาดกลัวการขยายอิทธิพลของจีน ซึ่งรุดหน้าไปไกลถึงขั้นจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ภายใต้ชื่อโครงการ “One Belt, One Road” ที่เรารู้จักกันดี

ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่อินเดียอยากจับมือกับอาเซียนเท่านั้น เพราะอาเซียนเองก็ไม่อยากตกขบวนการพัฒนาของอินเดียเช่นกัน เนื่องจากอินเดียกำลังเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุดของโลก

“Arvind Gupta” นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัย Vivekananda International Foundation และอดีตรองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ที่เคยเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์อีโคโนมิกส์ ไทมส์ ระบุว่า อาเซียนเองก็แสดงท่าทีอยากจะกระชับมิตรกับอินเดียมากขึ้นเช่นกัน เพื่อคานอำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ที่รุกขยายอาณาเขตไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ

“การเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญของจีนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาในทะเลจีนใต้ และความแข็งกร้าวที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายประเทศอาเซียนหันเข้าหาอินเดียมากขึ้น เพื่อจับมือเป็นคู่ค้าอย่างเป็นธรรม” ตอนหนึ่งของบทความจาก Gupta ระบุ

นอกจากนี้ อินเดียก็มีเมกะโปรเจ็กต์ในการเชื่อมทวีปเช่นกัน ซึ่งเป็นความริเริ่มตั้งแต่ปี 2002 โดยทางการอินเดียตั้งใจจะสร้างไฮเวย์ 3 ฝ่าย (IMT) จากเมืองมานิปูร์ พาดผ่านเมียนมา และมาสิ้นสุดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระยะทางกว่า 1,360 กิโลเมตร แต่แผนการเริ่มสร้างในปี 2015 ถูกยุติลง เนื่องจากปัญหาทางภูมิประเทศ ก่อนที่จะเดินหน้าโครงการใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากโมดีเยือนเมียนมา โดยคาดว่าโครงการก่อสร้างไฮเวย์ 3 ฝ่ายนี้จะเสร็จสิ้นในปี 2020

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า โปรเจ็กต์การเชื่อมโยงของอินเดีย ยังมีขนาดเล็กกว่าจีนอยู่มาก อินเดียจำเป็นต้องขยายเส้นทางไปไกลกว่านี้

พร้อมคาดการณ์ว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดียที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลอินเดียจะยกประเด็นการขยายเส้นทางไฮเวย์ออกไปให้ไกลขึ้น มาพูดในที่ประชุมอย่างแน่นอน โดยเล็งขยายต่อไปยังเวียดนาม โดย

วางเส้นทางผ่านกัมพูชาและลาว ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลโมดีกำลังพยายามระดมเงินทุนจำนวนมากสำหรับเมกะโปรเจ็กต์ยักษ์ใหญ่นี้อยู่