“คอฟฟี่คาเฟ่” กัมพูชา เสี่ยง “โอเวอร์ซัพพลาย”

ด้วยไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคกาแฟในกัมพูชาเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ธุรกิจร้านกาแฟทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและต่างประเทศโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูงจนมีสัญญาณว่าธุรกิจร้านกาแฟในกัมพูชาโดยเฉพาะในพนมเปญอาจอยู่ในภาวะล้นตลาด จนทำให้มีแบรนด์ใหญ่บางรายเริ่มมีการปิดสาขาบางแห่ง

พนมเปญ โพสต์ รายงานบทสัมภาษณ์ของผู้ประกอบการหน้าใหม่ชาวกัมพูชา “ซาร์ ธิดา” เจ้าของร้านกาแฟแบรนด์หนึ่งในกรุงพนมเปญ เล่าว่า เพิ่งลงทุนเปิดร้านกาแฟในกรุงพนมเปญเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ และคาดหมายว่าธุรกิจนี้จะถึงจุดคุ้มทุนในปลายปี 2019 เพราะเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจร้านกาแฟในกัมพูชาที่เฟื่องฟูมากในช่วงหลายปีมานี้

กล่าวว่า ช่วงปีแรกของการดำเนินธุรกิจผ่านไปอย่างยอดเยี่ยม แต่ละวันมีลูกค้าหลายร้อยคนเข้ามาในร้าน กำไรเป็นกอบเป็นกำทุกวัน จึงตัดสินใจเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 3 สาขาในเมืองหลวงแห่งนี้ ทว่าหลายเดือนมานี้ ร้านกาแฟของเธอเริ่มมีปัญหาไม่สามารถแข่งขันได้อย่างที่ควรจะเป็นปัจจัยหลักมาจากคู่แข่งร้านกาแฟอื่น ๆ ทั้งแบรนด์กัมพูชาและต่างประเทศ ซึ่งระยะเวลาเพียง 1 ปีที่ผ่านมามีร้านกาแฟเปิดใหม่มากกว่า 50 สาขา จากปัจจุบันที่คาดว่ามีราว ๆ 300 สาขาในกรุงพนมเปญ โดยร้านกาแฟที่มีสาขามากที่สุดในกรุงพนมเปญก็คือ “อเมซอน คาเฟ่” แบรนด์ไทยของกลุ่ม ปตท.ที่มีสาขามากที่สุดถึง 104 สาขา รองมาคือ “คอฟฟี่ ทูเดย์” อีกหนึ่งแบรนด์ไทยที่มีสาขาทั้งหมด 45 แห่ง และอันดับที่ 3 ก็คือ “บราวน์ คอฟฟี่” ของกัมพูชาที่มี 19 สาขา

รายงานข่าวระบุว่า หนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้สามารถขยายสาขาและครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในกัมพูชา น่าจะมาจากความได้เปรียบในด้านราคาที่ถูกและปริมาณมากกว่าคู่แข่งหลายราย ขณะที่กลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาหรือวัยเพิ่งเริ่มทำงาน พร้อมด้วยทำเลที่ตั้งที่สะดวก และการตกแต่งร้านที่เน้นการบริการแบบ take away มากกว่าการนั่งดื่มในร้าน

แตกต่างจากกาแฟแบรนด์ดังอื่น เช่น สตาร์บัคส์ และบราวน์ คอฟฟี่ ที่เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง รวมถึงนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต่างชาติในกัมพูชา ดังนั้น การตกแต่งร้านจะเน้นที่การเข้ามานั่งพักผ่อน พบปะสังสรรค์ และนั่งทำงาน

รายงานข่าวยังระบุว่า ธุรกิจร้านกาแฟในกัมพูชาโดยเฉพาะในกรุงพนมเปญเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแบรนด์ร้านกาแฟยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศที่ขยายสาขาอย่างรวดเร็ว

ทำให้เกิดปัญหาดีมานด์และซัพพลายของธุรกิจร้านกาแฟเกิดความไม่สมดุลอยู่สูง จนเรียกว่ามีปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย นักวิเคราะห์ในวงการมองว่า ความท้าทายของธุรกิจร้านกาแฟในกัมพูชา เริ่มส่งสัญญาณเตือนชัดขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงแค่กับแบรนด์ท้องถิ่นเท่านั้น แต่รวมไปถึงแบรนด์ร้านกาแฟของต่างประเทศด้วย ซึ่งเปรียบเทียบสถานการณ์ในปัจจุบันว่า “กำลังรอให้ฟองสบู่แตก”

โดยนายเฮง เส็งลี ผู้จัดการทั่วไปของ “พาร์ค คาเฟ่” แบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มชื่อดังของกัมพูชา ที่มีสาขาทั้งหมด 15 แห่ง กล่าวว่า “ธุรกิจกาแฟมีการแข่งขันที่สูงขึ้นมาก ผู้ประกอบการหน้าใหม่ก็เข้าสู่ตลาดนี้ได้ยากขึ้น แต่เพราะมองว่าโอกาสทางธุรกิจสูงทำให้นักธุรกิจใหม่ ๆ ยืนยันที่จะเข้ามา”

นายเฮงกล่าวเปรียบเทียบว่า การทำธุรกิจในปัจจุบันต่างกับอดีตมาก สมัยก่อนร้านกาแฟที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงก็เพราะมีเงินทุนมากพอมาลงทุน แต่ปัจจุบันธุรกิจนี้จำเป็นต้องใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญ และพยายามคิดหาเทคนิคกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่แตกต่างจากเจ้าอื่นมากที่สุดเพื่อให้อยู่รอด

“ผมมองว่าความอยู่รอดของธุรกิจร้านกาแฟ หรือแม้แต่ธุรกิจอาหารล้วนต้องใช้ประสบการณ์ และความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจสูง เงินทุนกลายเป็นปัจจัยรองไปในยุคนี้ การเฟื่องฟูของร้านกาแฟในกัมพูชาก็เหมือนกับฟองสบู่ที่กำลังโตเรื่อย ๆ และรอวันแตก หลาย ๆ ร้านอาจล้มหายตายจากไประหว่างทาง มีเพียงร้านที่นำเสนอเทคนิคพิเศษเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้” เจ้าของร้านพาร์ค คาเฟ่กล่าว

เช่นเดียวกับ “เทพ วิรัก” ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของ Express Food Group (EFG) บริหารร้านคอสต้า คอฟฟี่ในกัมพูชา กล่าวว่า ร้านกาแฟหลาย ๆ ร้านตัดสินใจขยายสาขาโดยไม่ได้ศึกษาตลาดและคู่แข่งอย่างละเอียด สนใจเพียงแค่สัดส่วนผู้บริโภคของกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้น กับจีดีพีของกัมพูชาที่โตเฉลี่ย 6.9-7% เท่านั้น

โดยหลายเดือนที่ผ่านมา “คอสต้า คอฟฟี่” แบรนด์ชั้นนำจากอังกฤษได้ยุติกิจการบางสาขา จากที่เมื่อปีก่อนเปิดดำเนินการทั้งหมด 7 สาขา ปัจจุบันเหลือเพียง 3 แห่ง รวมทั้ง “ทรูคอฟฟี่” ของไทยจากที่เคยมีสาขาทั้งหมด 4 แห่ง ปัจจุบันก็เหลือเพียง 1 สาขาเท่านั้น ขณะที่เชนร้านกาแฟข้ามชาติอย่างสตาร์บัคส์ที่มีสาขาทั้งหมด 12 แห่ง ก็ยังไม่มีแผนการที่จะเพิ่มสาขาเร็ว ๆ นี้