EU ใช้ไม้แข็ง “กัมพูชา” ยกเลิก “สิทธิพิเศษ” การค้า

กัมพูชา นับเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกสูง โดยเฉพาะเป็นฐานผลิต “สิ่งทอและรองเท้า” ให้แบรนด์ดังทั่วโลก และปัจจัยสำคัญที่กัมพูชาสามารถดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก นอกจากอัตราค่าแรงที่ต่ำก็คือ “สิทธิพิเศษ” ทางการค้า ในฐานกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่ล่าสุดสหภาพยุโรป (อียู) ตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของกัมพูชาแถลงการณ์เตรียมพิจารณา “เพิกถอน” สิทธิพิเศษทางการค้ากับกัมพูชา เป็นมาตรการคว่ำบาตรเพื่อกดดันรัฐบาล “ฮุน เซน”

รอยเตอร์สอ้างแถลงการณ์ของ “เซซิเลีย มาล์มสตรอม” กรรมาธิการด้านนโยบายการค้าของสหภาพยุโรป (อียู) แถลงต่อรัฐมนตรีการค้าทั้ง 28 ประเทศสหภาพ ระบุว่า ที่ประขุมมีมติเห็นชอบให้เตรียม “เพิกถอน” สิทธิประโยชน์ของกัมพูชา ที่เข้าถึงตลาดการค้าของอียูโดยได้รับการยกเว้นจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทยกเว้นอาวุธ (everything but arms : EBA)

คำแถลงยังระบุอีกว่า อาจจะระงับโครงการ EBA กับเมียนมาด้วย ซึ่งเป็นฐานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปอันดับ 2 ในอาเซียน ที่ผลิตให้กับแบรนด์ของยุโรป อ้างเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนของทั้งสองประเทศที่กำลังถดถอยอย่างรุนแรง

ขณะนี้รัฐบาลกัมพูชารับทราบแล้วว่า อียูกำลังเริ่มกระบวนการถอดถอนสิทธิประโยชน์ EBA ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณา 6 เดือน ทั้งนี้ อียูจะพิจารณาอัตราภาษีที่จะเริ่มเก็บจากสินค้าหลายรายการของกัมพูชา เช่น น้ำตาล สิ่งทอ และรองเท้า

อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรนี้มีความยืดหยุ่นสูง เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลกัมพูชาเสนอข้อปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อแสดงออกว่าต้องการแก้ไขสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้น

“เหตุผลใหญ่ที่ทำให้กัมพูชาอาจเสียสถานะพิเศษทางการค้าจากอียู เพราะการเลือกตั้งที่ปูทางสำหรับฮุน เซน เพื่อกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง”

“อียู” คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกดดันรัฐบาลกัมพูชาได้ดีที่สุด เพราะจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะอุตฯ สิ่งทอ เพราะอียูเป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่สุดของกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วน 40% ของปริมาณการค้ากับต่างประเทศ ตามด้วยสหรัฐเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 30%, แคนาดา 9% และญี่ปุ่น 4%

ในปี 2017 มูลค่าการส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยังอียูกว่า 5,000 ล้านยูโร ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มสิ่งทอ ซึ่งมีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศ อีกทั้งยังช่วยสร้างงานในประเทศมากกว่า 700,000 ตำแหน่งงานด้วย

ทั้งนี้ ผู้แทนจากสภาธุรกิจสิ่งทอของกัมพูชากล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรกำลังสร้างความวิตกต่อผู้ประกอบการโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยเฉพาะผู้ผลิตให้กับแบรนด์ต่าง ๆ จากยุโรป อาจต้องชะลอการผลิตลง จนกว่าจะแน่ใจว่ารัฐบาลพยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้เป็นที่น่าพอใจสำหรับอียู

หากกัมพูชาไม่สามารถปลดล็อกปัญหาได้ อาจเลวร้ายกระทบกับการจ้างงาน จนประสบปัญหาอัตราการว่างงานสูงขึ้น ซึ่งกัมพูชาจัดว่าอยู่ในกลุ่มชาติที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในอาเซียน

นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยการตลาดอียู-อาเซียน ในเยอรมนี กล่าวว่า ปัจจุบันมีแบรนด์เสื้อผ้าและรองเท้าของยุโรปจำนวนมากที่มีฐานการผลิตอยู่ในกัมพูชา เช่น อาดิดาส, เอชแอนด์เอ็ม และเอ็นแอนด์เอสของอังกฤษ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบ เพราะต้องจ่ายภาษีนำเข้าให้กับอียู โดยประเมินว่าเสื้อผ้าและรองเท้าอาจจะถูกเก็บภาษีตั้งแต่ 10-25%

ไม่เพียงเท่านั้น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเพิ่งปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานในอุตฯสิ่งทอขึ้นอีก 12 ดอลลาร์สหรัฐ นั่นหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้โอกาสที่สินค้าของแบรนด์ในยุโรปจะมีราคาสูงขึ้น

ตอนนี้คงได้แต่ “หวัง” ที่จะเห็นรัฐบาลกัมพูชาและเมียนมา จะมีข้อเสนอดี ๆ เพื่อแลกกับการได้รับสิทธิ EBA เช่นเดิม เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ความได้เปรียบด้านการลงทุนของกัมพูชาก็จะหายวับไป