รัฐล้มเหลว

AFP PHOTO / FRED DUFOUR

คอลัมน์ รู้จักอาเซียน
โดย มัธธาณะ รอดยิ้ม

การเข่นฆ่าชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ของเมียนมา หากจะมองไปถึงแก่นของปัญหา สิ่งที่หลีกหนีไม่ได้คือการมองผ่านกรอบเศรษฐกิจการเมืองที่ส่งผลอย่างร้ายแรงต่อเมียนมาทั้งประเทศ เพราะมันไม่ได้กระทบแค่ชาวโรฮีนจา แต่ยังมีชนกลุ่มน้อยอีกหลายเผ่าพันธุ์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการไม่เหลียวแลของรัฐบาลกลางที่บริหารโดยชาวบะม่า หรือชาวเมียนมา

ปัจจัยพื้นฐานในการผลิตที่ดั้งเดิมที่สุดเรื่องปัญหาที่ทำกิน ซึ่งปฏิเสธได้ยากว่าหลายประเทศกำลังพัฒนาก็กำลังเผชิญกับสิ่งนี้อยู่

นับตั้งแต่ปีคริสต์ทศวรรษที่ 90 รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาได้ใช้กำลังบุกยึดที่ดินของผู้ถือรายย่อยโดยไม่ให้ค่าตอบแทนใดทั้งสิ้น บรรดาผืนดินที่ยึดมารัฐบาลก็เอาไปพัฒนาเป็นฐานทัพ เปิดสัมปทานให้ต่างชาติเข้ามาขุดหาทรัพยากรบ้าง หรือกระทั่งเอาไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวดึงเงินเข้าส่วนกลาง

แน่นอนว่าการพัฒนาจากรัฐบาลทหารส่งผลให้มีพลเมืองชาวเมียนมากว่าหลายหมื่นคนต้องพลัดพรากจากพื้นที่ และบางคนจำเป็นต้องละทิ้งถิ่นฐานข้ามประเทศไปยังไทย บังกลาเทศ หรือกระทั่งอินเดีย

กุยเซปเป้ ฟอริโน่ นักศึกษาปริญญาเอก ด้านการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยนิวคาสเซลได้เขียนคอลัมน์ในเว็บไซต์ควาร์ซเกี่ยวกับการรุกที่ทำกินไว้อย่างน่าสนใจ ว่า บริษัทต่างชาติ ไม่ว่าจะจากจีนก็ดี หรืออินเดียก็ดี ได้เข้ามาถลุงทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมไม้ เหมือง หรือการสร้างเขื่อน ซึ่งการทำธุรกิจเช่นนั้นมีผู้อาศัยพื้นเมืองได้รับผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างในรัฐฉาน หรือรัฐคะฉิ่น

การพัฒนาที่มาจากการขับไล่ที่ทำกินเป็นปัจจัยหลักต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นและการเกิดขึ้นของกองกำลังติดอาวุธต่าง ๆ ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ของเมียนมาที่ตั้งติดกับทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล จะเรียกว่าบังเอิญก็ไม่น่าจะใช่ อย่างประเด็นท่อก๊าซที่รัฐบาลเมียนมาให้สัมปทานจีนเข้ามาวาง ซึ่งเริ่มจากเมืองก๊วกพยู ที่มีท่าเรือจีนอยู่ด้วย เข้าสู่ชิตเว่เมืองหลวงของรัฐยะไข่ และไปตามทางผ่านมัณฑะเลย์ จนถึงเมืองรุยลี่ ชายแดนจีนต่อไปยังคุนหมิง

พื้นที่ในยะไข่เคยมีชาวโรฮีนจาอยู่อย่างหนาตา มีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐเมียนมาใช้กำลังในการบุกยึดที่ดินให้ทุนต่างชาติเข้ามาจับจองสัมปทาน ประกอบกับการถูกรัฐบาลเมียนมาลิดรอนสิทธิในการถือครองที่ดินต่อชาวโรฮีนจาทั้งโดยการใช้กำลังและกดขี่ชาวโรฮีนจาอย่างการไม่ให้สิทธิในการเป็นพลเมือง

และท่าทีจีนกับรัฐบาลเมียนมาที่สอดรับกันอย่างคล่องตัวอันเนื่องจากผลประโยชน์ แม้ประชาคมโลกจะประณามทั้งตัวรัฐและนางออง ซาน ซู จี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพก็ตาม

ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัธรรมศาสตร์ กล่าวกับผู้เขียนว่า ในทางภูมิรัฐศาสตร์ การสร้างท่อก๊าซเกี่ยวข้องกับประเด็นโรฮีนจาซึ่งดูได้จากท่าทีจีนต่อรัฐบาลเมียนมา ถ้ายะไข่ไม่สงบก็กระทบจีน เป็นเรื่องของการทูตพลังงานในศตวรรษที่ 21

โรฮีนจาจึงกลายเป็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนจากการพัฒนาที่ตกร่องของรัฐบาล หากการพัฒนาขาดเสียงส่วนร่วมจากคนในท้องถิ่นแล้ว เสี่ยงมากที่เมียนมาจะเข้าสู่รัฐที่ล้มเหลว