นักวิชาการมองจีนเชื่อมศก.โลกผ่านเส้นทางสายไหม ดัน”อาเซียน”ได้ประโยชน์การค้า-ลงทุนสูง

นักวิชาการมองจีนเชื่อมเศรษฐกิจโลกผ่านเส้นทางสายไหม ดัน”อาเซียน”ได้ประโยชน์การค้า-ลงทุนสูง ห่วงแต่ละประเทศยังเข้าใจทิศทางไม่ตรงกัน

วันที่ 20 กรกฎาคม 2560 เวลา 09:45 น. ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่าสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าเเละพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD จัดเวทีประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2560 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยการประชุมในช่วงที่ 4 ว่าด้วยเรื่อง ข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21: ภาพของการค้าเเละการลงทุนแห่งอนาคตในดินแดนตอนใต้

สำหรับเส้นทางสายไหมยุคใหม่ หรือ One Belt, One Road (BRI) นี้ ประเทศจีนได้ริเริ่มตั้งเเต่ปี 2013 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทั้ง 65 ประเทศ หรือ 1 ใน 3 ของสหประชาชาติ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 66 ของประชากรโลก ทั้งนี้จะครอบคลุมจีดีพีและอัตราการค้าที่เป็นผลคาดหวังเชิงเศรษฐกิจในระดับสูง

@เชื่อมเศรษฐกิจสู่ระดับโลก สร้างประโยชน์สู่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

ศ. กิตติคุณ ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการค้าระหว่างประเทศ) กล่าวถึงประโยชน์ของการเชื่อมโยงระหว่างเส้นทางสายไหมเส้นใหม่เข้ากับระเบียงเศรษฐกิจกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงว่า การจับมือกันครั้งนี้จะเป็นการดึงประเทศในภูมิภาคเข้ากับประเทศจีน เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย บังคลาเทศ มองโกเลีย อินโดจีน รัสเซีย และยุโรป เป็นต้น โดยถือเป็นการเชื่อมโยงขนาดใหญ่ที่จะสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

“ลาว เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา ประเทศเหล่านี้จะเป็นเส้นทางการเดินเรือใหม่ของเอเชียอาคเนย์กับจีน ซึ่งจีนแผ่นดินใหญ่ได้ประโยชน์มาก ทั้งนี้ จีนลงทุนกับปากีสถานโดยเป็นแกนหลักในการเชื่อมโยงตะวันออกกลาง ส่วนกัมพูชาจะเชื่อมกับบังคลาเทศ อินโดจีนจะเชื่อมกับจีนแผ่นดินใหญ่ โครงการนี้จึงจะกลายเป็นอันดับหนึ่ง และเป็นแกนกลางระเบียงเศรษฐกิจอื่นๆ”

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาฯ มองว่า ณ ขณะนี้ทุกประเทศต่างมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขคือความเข้าใจและความตระหนักในการร่วมมือระหว่างสองโครงการเข้าด้วยกัน

“ขณะนี้เรายังไม่เข้าใจโครงการอย่างแจ่มชัด เพราะยังมองคนละภาพ เมื่อคุณไปเวียดนามคุณจะได้คำตอบหนึ่ง และเมื่อคุณไปลาวคุณจะได้อีกคำตอบหนึ่ง นั่นเพราะทุกคนยังเข้าใจไม่ตรงกัน ตอนที่จีนเริ่มเข้ามาในอาเซียนเมื่อปี 2009 ขณะนั้นเราไม่ทราบว่าความจำเป็นคืออะไร ทั้งยังมีความระแวงสงสัยต่อจีน แต่หลังจากนี้เราต้องปรับความเข้าใจคนให้ตระหนักถึงความสำคัญ จากนั้นจึงบูรณาการและดำเนินการต่อไป”

สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ได้ทำการลงทุนกับประเทศจีนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช ซึ่งเป็นโครงการหลักใหญ่ที่ไทยให้ความสำคัญ ผ่านการถ่วงดุลกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายในประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ลงทุนทางการเงินตลอดทั้งโครงการ แต่ไทยก็ได้รับผลประโยชน์จีนมาก นอกจากนี้การตัดสินใจยังเป็นของประเทศไทย

@เส้นทางสายไหมใหม่กลายเป็นกระดูกสันหลังด้านเศรษฐกิจ

ด้าน ดร.กฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ กรรมการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการค้าระหว่างประเทศ) กล่าวถึงการร่วมมือกันในเส้นทางสายไหมว่า โครงการนี้จะครอบคลุมมากกว่า 60 ประเทศ ไม่ใช่เพียงเส้นทางของรถไฟที่จะเชื่อมต่อกันมากขึ้น แต่รวมไปถึงเส้นทางการเดินเรือ เเละเส้นทางอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้ มองว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนจะได้รับประโยชน์มากมายจากการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้น ความขัดเเย้งระหว่างประเทศก็ลดลง อีกทั้งยังสร้างเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ขึ้นมา เป็นการสร้างงานเเละกระจายรายได้

ดร.กฤษฎา เผยถึงประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งเป็นกำลังหลักสำคัญในการสร้างความเติบโต ขณะนี้คือประเทศเวียดนาม โดยเมื่อไม่นานมานี้ เวียดนามได้มีการลงนามเอ็มโอยูร่วมกับอียู และรัสเซีย ฉายภาพถึงเศรษฐกิจที่โตขึ้นถึง 11% ซึ่งเวียดนามเตรียมพัฒนาโครงการท่าเรือไฮฟองกว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพเเละขยายตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนสินค้าทางเรือ”

“ผมยืนยันว่าโครงการเส้นทางสายไหมจะส่งผลดีต่อการเปิดเสรีการค้า การลงทุน ภายภาคหน้าจะกลายเป็นกระดูกสันหลังทางด้านเศรษฐกิจ แต่ต้องช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อให้เติบโตต่อไป”

@เปิดโอกาสธุรกิจเอกชน

ขณะที่ Oliver Redrup จากบริษัทไพร์ซ วอเตอร์เฮ้าส์ สิงคโปร์ กล่าวว่า โครงการเส้นทางสายไหมไม่ใช่โครงการใหม่แต่อย่างใด เป็นการนำเอาเเนวคิดเดิมมาต่อยอด ไม่มีคำจำกัดความว่าเส้นทางสายไหมคืออะไร มันอาจไม่ใช่ถนน ไม่ใช่รางรถไฟ หรือเส้นทางเดินเรือ มันเป็นอะไรที่เชื่อมโยงกัน เป็นโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับโครงการภาคเอกชนที่คิดจะลงทุน

สำหรับโอกาสในการเชื่อมโยงไปสู่จุดต่างๆ ในส่วนนี้คงต้องย้อนกลับมามองที่รัฐบาลเเต่ละประเทศว่ามีการจัดการอย่างไร อยากได้อะไรจากโครงการนี้ เเละประเทศไทยนั้นก็ได้รับผลด้านดี เเต่ก็ต้องคำนึงว่าสอดคล้องกับไทยเเลนด์ 4.0 หรือไม่ ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เป็นกลุ่มสำคัญที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาเส้นทางสายไหม