สายเลือดกับความรักชาติ คนลัตเวียเชื้อสายรัสเซียเลือกอะไร

“ผมโตมาโดยพูดภาษารัสเซีย ผมมีสายเลือดรัสเซีย แต่ผมไม่ได้มองว่าตัวเองเกี่ยวข้องกับประเทศรัสเซีย หรือคนรัสเซีย” พันตรี อนาโตลี เดอร์ยูกิน นายทหารในกองทัพบกลัตเวียกล่าว 

พันตรี อนาโตลี วัย 43 ปี เป็นหนึ่งในคนลัตเวียกว่า 1 ใน 3 ที่ใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาแม่ แต่สงครามการรุกรานยูเครนของรัสเซียได้ทำให้ชาวลัตเวียกลุ่มนี้ต้องเผชิญแรงกดดันจากสังคมในการพิสูจน์ความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ

พันตรี อนาโตลี เกิดและเติบโตในลัตเวีย เขาใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตรับใช้ชาติในฐานะทหารในกองทัพบกลัตเวีย แม่ของเขาเป็นชาวลัตเวียที่พูดภาษารัสเซีย ส่วนพ่อมาจากภาคตะวันออกของยูเครน

พันตรี อนาโตลี เดอร์ยูกิน นายทหารในกองทัพบกลัตเวีย
พันตรี อนาโตลี

หากพันตรี อนาโตลี ต้องต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินเกิด เขาก็จะต่อสู้เพื่อลัตเวีย แม้ว่าฝ่ายข้าศึกจะเป็นคนที่พูดภาษารัสเซียแบบเขาก็ตาม

“ถ้าโจร หรือฆาตกรขึ้นบ้านคุณ ไม่ว่าเขาจะมีเชื้อสายอะไร พูดภาษารัสเซียหรือไม่ คุณคงไม่สนว่าเขามาจากไหน เพราะเขาไม่ใช่พี่น้องหรือเพื่อนร่วมชาติของคุณอีกต่อไป” พันตรี อนาโตลี อธิบายความรู้สึกของตน

แต่กลุ่มคนพูดภาษารัสเซียส่วนใหญ่ในลัตเวีย มักใช้ชีวิตโดยดูดซับรับเอาข้อมูลข่าวสารจากสถานีโทรทัศน์ของทางการรัสเซีย เพราะสื่อในประเทศไม่นำเสนอเนื้อหาที่เป็นภาษารัสเซีย นี่จึงทำให้คนกลุ่มนี้หลายคนมีมุมมองต่อโลกตามแบบที่นำเสนอผ่านแนวคิดเรื่องอาณาจักรรัสเซียที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยมีรัฐบาลรัสเซียเป็นจุดศูนย์กลาง

ทางการลัตเวียขู่จะเอาผิดทางอาญาต่อผู้ที่ออกมาสนับสนุนการทำสงครามของรัสเซียอย่างเปิดเผย

ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลายในปี 1991 มีการส่งครอบครัวชาวรัสเซียและยูเครนไปยังลัตเวีย ตามโครงการบังคับโยกย้ายถิ่นฐานแรงงาน ส่วนชาวลัตเวียที่พูดภาษารัสเซียกลุ่มอื่น ๆ เป็นทายาทของชาวรัสเซียที่ย้ายไปตั้งรกรากในลัตเวียเมื่อหลายร้อยปีก่อน ขณะที่บางส่วนมีถิ่นกำเนิดมาจากเบลารุส หรือมีบรรพบุรุษเป็นชาวยิว

ที่ผ่านมา ผู้นำลัตเวียและผู้นำประเทศอื่น ๆ ต่างมีความกังวลและเฝ้าจับตาแผนการของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่มีต่อบรรดากลุ่มประเทศบอลติก

การที่ผู้นำรัสเซียพยายามสร้างความชอบธรรมในการยกทัพบุกยูเครนโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องและปลดปล่อยชาวยูเครนที่พูดภาษารัสเซียในภูมิภาคดอนบาสนั้น ทำให้ลัตเวียกลัวว่านายปูตินอาจใช้ข้ออ้างนี้ในการรุกรานลัตเวียเช่นกัน

องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ได้รับมือกับเรื่องนี้ด้วยการเสริมกำลังทหารในลัตเวียเพิ่มขึ้นสองเท่า และมีแผนจะส่งกำลังไปประจำการเพิ่มด้วย ขณะที่รัฐบาลลัตเวียกำลังพิจารณาถึงเรื่องการเกณฑ์ทหาร เพื่อเสริมกำลังพลให้กองทัพแข็งแกร่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ทางการได้สั่งห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อรัสเซีย อีกทั้งยังขู่จะเอาผิดทางอาญาต่อผู้ที่ออกมาสนับสนุนการทำสงครามของรัสเซียอย่างเปิดเผย

อนุสาวรีย์ที่เคยถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์เชิดชูอดีตสหภาพโซเวียตได้ถูกรื้อถอนออก และประชาชนไม่ได้รับอนุญาตให้ถือสัญชาติรัสเซียคู่กับสัญชาติลัตเวีย

ทุกวันนี้ ชีวิตของคนสัญชาติรัสเซียในลัตเวียก็ยากเย็นขึ้น หลังจากประธานาธิบดี เอกิลส์ เลวิตส์ ระบุว่า จะยกเลิกสิทธิการพำนักในลัตเวียต่อผู้ที่สนับสนุนสงครามของรัสเซีย

พันตรี อนาโตลี กล่าวว่า “ความรักชาติและทัศนคติในการปกป้องประเทศของคนคนหนึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับภาษาที่คุณพูด”

ปัจจุบันเขาเป็นผู้บัญชาการกองพันทหารราบที่ 34 ของลัตเวียที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกใกล้กับชายแดนเบลารุส

สงครามในยูเครนทำให้คนลัตเวียสมัครเข้าเป็นทหารมากขึ้น

ในพื้นที่แถบนี้ ประชากรราว 90% มีภาษารัสเซียเป็นภาษาแม่ เช่นเดียวกับทหารในสังกัดของพันตรี อนาโตลี

สำหรับทางการลัตเวีย ความจงรักภักดีของพลเมืองในประเทศมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ารถถัง และทหารผู้ทำหน้าที่เป็นรั้วของชาติ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามที่มีการพูดคุยกันอย่างลับ ๆ ว่าชาวลัตเวียเชื้อสายรัสเซียจะเชื่อใครมากกว่ากัน ระหว่างผู้นำลัตเวียและผู้นำชาติตะวันตก หรือการโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย ซึ่งที่ผ่านมา ลัตเวียยอมให้สื่อรัสเซียเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในประเทศอยู่นานถึง 30 ปี

นับแต่สงครามในยูเครนปะทุขึ้น SKDS บริษัทจัดทำโพลในลัตเวียได้เฝ้าติดตามความคิดเห็นของประชากรที่พูดภาษารัสเซีย โดยเมื่อเดือน มี.ค. พบว่าคนกลุ่มนี้ 22% สนับสนุนยูเครน แต่ในเดือน มิ.ย. ตัวเลขนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 40%

ดูเหมือนว่าการห้ามสื่อรัสเซียเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อในประเทศจะช่วยให้ทัศนคติของคนในลัตเวียเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ขณะเดียวกันก็เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญในทัศนคติของนักการเมืองที่นี่เช่นกัน

ในช่วงก่อนปี 2017 พรรคฮาร์โมนี (Harmony party) ที่ยึดแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นตัวแทนปกป้องผลประโยชน์ของชนกลุ่มน้อยเชื้อสายรัสเซียที่นี่ อีกทั้งถูกมองว่าฝักใฝ่รัสเซียและมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคยูไนเต็ดรัสเซียของประธานาธิบดีปูติน

ทว่าเมื่อเกิดสงครามในยูเครน พรรคฮาร์โมนีได้ออกมาประณามการรุกรานของรัสเซีย โดยนายบอริส ซิเลวิซส์ ส.ส.ของพรรค กล่าวว่าสงครามครั้งนี้ทำให้เขาได้ตาสว่างจากอุดมการณ์การแผ่ขยายอำนาจของรัฐบาลรัสเซีย พร้อมชี้ว่า รัสเซียในปัจจุบันไม่ต่างไปจากนาซีเยอรมนี และโอกาสเดียวที่จะแก้ไขให้กลับคืนสู่ภาวะปกติอีกครั้งคือการทำให้รัสเซียพ่ายแพ้ทางการทหาร

บิดามารดาของนายซิเลวิซส์เป็นอาจารย์ภาษารัสเซีย ดังนั้นวรรณกรรมและวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนในครอบครัวของเขา ทว่านับแต่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน เขายอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะรักความเป็นรัสเซียของตนเอง

“การรุกรานยูเครนได้ทำลายคุณค่าความเป็นรัสเซียทั้งหมด และทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับรัสเซียเป็นพิษ” เขาบอก

“แต่สำหรับคนพูดภาษารัสเซียจำนวนมากในลัตเวีย อัตลักษณ์ความเป็นรัสเซียเป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับหลายคนแล้ว การยอมรับว่ารัสเซียคือผู้รุกรานนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ถึงขั้นที่ทำให้สติแตกก็ว่าได้” นายซิเลวิซส์ กล่าว

อเล็กซานเดอร์ วัย 19 ปี อาจต้องถูกจำคุก 5 ปี หลังจากโบกธงชาติรัสเซียในลัตเวีย

อเล็กซานเดอร์ วัย 19 ปี ถูกจับหลังจากโบกธงชาติรัสเซียและขึ้นปราศรัยที่หน้าอนุสาวรีย์สงครามโซเวียตที่กรุงริกา เมื่อ 10 พ.ค.

เขาเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะที่กองทัพรัสเซียมีเหนือกองทัพนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งนี้ 2 ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการลัตเวีย ที่ห้ามจัดงานลักษณะนี้เพราะมองว่าเป็นกิจกรรมที่เชิดชูรัสเซีย ส่งผลให้มีการชุมนุมประท้วงจากคนเชื้อสายรัสเซีย เช่น อเล็กซานเดอร์

ตำรวจลัตเวียมองว่าการกระทำของเขาเป็นการแสดงความสนับสนุนการทำสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซีย แต่อเล็กซานเดอร์และครอบครัวไม่ได้คิดเช่นนั้น

ชายหนุ่มวัย 19 ปีผู้นี้ถูกตั้งข้อหายกย่องเชิดชูการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมสงคราม ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุก 5 ปี

สำหรับชาวลัตเวียที่พูดภาษารัสเซียหลายคน วันแห่งชัยชนะถือเป็นวันสำคัญ แม้ว่าพวกเขาจะประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และมองว่าตัวเองเป็นชาวลัตเวียผู้รักชาติก็ตาม

แต่ยิ่งพวกเขารู้สึกว่ากำลังถูกกดดันให้ละทิ้งอัตลักษณ์ความเป็นรัสเซียของตัวเองไปเพื่อแสดงความภักดีต่อชาติตะวันตก ก็ยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมลัตเวีย

แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลลัตเวียเชื่อว่าจะต้องเตรียมพร้อมรับมือความเสี่ยงที่ประเทศเพื่อนบ้านที่ใหญ่กว่าอย่างรัสเซียจะยกทัพเข้ารุกรานแบบที่ทำไว้กับยูเครน

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว