ใครได้ประโยชน์จากภาวะเงินเฟ้อบ้าง

Getty Images

คนทั่วโลกกำลังเผชิญความยากลำบากจากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะเงินเฟ้อ

ดาร์ชินี เดวิด ผู้สื่อข่าวการค้าโลกของบีบีซีจะพาไปดูว่า มีอุตสาหกรรมใดบ้างที่ได้รับประโยชน์จากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในขณะนี้

บริษัทพลังงานรายใหญ่

แท่นขุดเจาะน้ำมัน

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผู้ประกอบธุรกิจกลั่นเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังเป็นข่าวจากการทำผลกำไรได้มากเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาขายส่งก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกได้พุ่งสูงขึ้น และราคาน้ำมันก็ทะยานขึ้นไปอยู่ที่ราว 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีความกังวลว่าปริมาณการผลิตน้ำมันจะลดน้อยลงจากปัญหาสงครามในยูเครน

อารัมโก (Aramco) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบียเปิดเผยว่าทำกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. ขณะที่บริษัทบีพี (BP) ทำกำไรได้ 6,900 ล้านปอนด์ (ราว 289,800 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกัน ส่วนบริษัทเชลล์ (Shell) มีกำไรสูงสุดคือ 9,000 ล้านปอนด์ (ราว 378,000 ล้านบาท)

บริษัทเซ็นทริกา (Centrica) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริติช แก๊ส (British Gas) ก็มีกำไรเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากน้ำมัน ก๊าซ และสินทรัพย์พลังงานนิวเคลียร์

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทด้านพลังงานในสหราชอาณาจักรที่ทำผลกำไรเพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่ถีบตัวสูงขึ้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะต้องเผชิญการเรียกเก็บภาษีลาภลอย (windfall tax) จากรัฐบาลในอัตรา 25% ของผลกำไรที่ได้จากการกลั่นน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในสหราชอาณาจักร โดยเงินภาษีที่ได้มีเป้าหมายในการนำไปช่วยเหลือคนในครัวเรือนที่ได้รับความยากลำบากจากภาวะค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปริมาณเชื้อเพลิงที่ได้จากในสหราชอาณาจักรยังถือว่ามีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของปริมาณการผลิตทั้งหมดของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ได้จากสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 10 ของปริมาณเชื้อเพลิงที่บริษัทบีพีผลิตได้ทั้งหมด

แต่บางบริษัทยังไม่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากทำสัญญาซื้อขายส่งแบบล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาราคาผันผวนใหญ่

เหมืองแร่

คนงานเหมืองแร่

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในขณะที่หลายประเทศมองหาแหล่งเชื้อเพลิงชนิดอื่นเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ถ่านหินก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

นี่จึงทำให้บริษัททำเหมืองถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษมากที่สุดได้รับผลกำไรมหาศาล

เกลนคอร์ (Glencore) เป็นอีกบริษัทที่ได้ประโยชน์จากราคาถ่านหินที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้นสองเท่า คือกว่า 15,000 ล้านปอนด์ (ราว 645,000 ล้านบาท) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022

ความกังวลว่ารัสเซียจะตัดการส่งก๊าซธรรมชาติให้ยุโรปในฤดูหนาวที่จะถึงนี้ ทำให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรร้องขอให้บริษัทพลังงานต่าง ๆ เลื่อนแผนการปิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินออกไปก่อน

ขณะที่ยูนิเปอร์ (Uniper) บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าสัญชาติเยอรมันระบุว่า จะเริ่มผลิตไฟฟ้าป้อนตลาดด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน เนื่องจากรัสเซียระงับการส่งก๊าซไปให้

บริษัทสินค้าโภคภัณฑ์

อาร์เชอร์ แดเนียลส์ มิดแลนด์ (Archer Daniels Midland หรือ ADM), บังกี (Bunge), คาร์กิล (Cargil) และ ลูอีส์ เดรย์ฟัส (Louis Dreyfus) อาจไม่ใช่ชื่อที่หลายคนคุ้นหู แต่บริษัทเหล่านี้คือผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก โดยเป็นผู้นำด้านการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะธัญพืช

ในยามที่โลกเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร บริษัทพ่อค้าคนกลางเหล่านี้สามารถเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้มีอาหารเพียงพอในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนได้ เช่น การช่วยประเทศต่าง ๆ หาแหล่งซื้อข้าวสาลีในช่วงที่กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนข้าวสาลีจากแหล่งเพาะปลูกสำคัญอย่างยูเครนและรัสเซีย

แต่ปัญหาขาดแคลนข้าวสาลีที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันข้าวสาลีมีราคาแพงขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้สินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นอื่น ๆ ก็ปรับราคาสูงขึ้นเช่นกัน

อาร์เชอร์ แดเนียลส์ มิดแลนด์ รายงานว่ามีผลกำไรเพิ่มขึ้น 60% ในช่วงไตรมาสล่าสุด บังกีมีกำไรน้อยกว่า แต่คาดการณ์ว่าผลประกอบการโดยรวมในปีนี้จะอยู่ในทิศทางที่ดี ส่วนคาร์กิลมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 23% หรือ 165,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.94 ล้านล้านบาท) ในปีงบประมาณล่าสุด บริษัทระบุว่าได้มอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและเพื่อการกุศลไป 163 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,868 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 0.1% ของยอดขายของบริษัท

บริษัทขนส่งทางเรือ

การปิดประเทศจากการระบาดของโควิด-19 อาจสร้างความชะงักงันทางเศรษฐกิจ แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่บรรดาบริษัทขนส่งทางเรือ

การล็อกดาวน์เพื่อสกัดการระบาดของโควิดทำให้อัตราการขนส่งสินค้าพุ่งสูงขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มาตรการจำกัดการเดินทางของประชาชนทำให้ท่าเรือต่าง ๆ คับคั่ง และโครงการต่อเรือขนส่งสินค้าใหม่ ๆ ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว

ท่าเรือขนส่งสินค้า

ที่มาของภาพ, Getty Images

ดรูว์รี (Drewry) บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านการเดินเรือ ระบุว่า ธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือจะมีผลกำไรเพิ่มขึ้น 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 18 ล้านล้านบาท) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

เอพี เมิลเลอร์-เมิร์สก์ บริษัทขนส่งสินค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของโลกปรับเพิ่มประมาณการณ์ผลกำไรประจำปีเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ เนื่องจากภาวะชะงักงันตามท่าเรือต่าง ๆ ที่ยังดำเนินอยู่

ผู้ค้านาฬิกาหรูและไวน์ชั้นเลิศ

สำหรับคนที่มีเงินเหลือเฟือ ภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเชื่องช้าทำให้การลงทุนแบบปกติให้ผลตอบแทนไม่มากพอสำหรับพวกเขา

คนกลุ่มนี้จึงหันไปหาการลงทุนแบบอื่น ตัวแทนซื้อขายที่บริษัทไนต์ แฟรงก์ (Knight Frank) ในอังกฤษ ระบุว่า อัตราการลงทุนในไวน์ชั้นเลิศ และนาฬิกาหรูเพิ่มขึ้น 16% เมื่อปีก่อน การลงทุนในงานศิลปะเพิ่มขึ้น 13% และการลงทุนในเหล้าวิสกี้และเหรียญกษาปณ์เพิ่มขึ้น 19%

บรรดานักลงทุนต่างหวังว่าของประเภทนี้จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นแซงหน้าอัตราเงินเฟ้อ และแนวโน้มยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปีนี้ บริษัทบอร์โด อินเด็กซ์ (Bordeaux Index) ผู้ค้าไวน์ชั้นเลิศรายใหญ่ที่สุดในโลกรายงานยอดขายเพิ่มขึ้น 37% ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

ไวน์

ที่มาของภาพ, Getty Images

ซีพีเอฟยอดขายสูงเป็นประวัติการณ์

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้รายงานยอดขายประจำไตรมาส 2 ปี 2565 ว่ามีจำนวน 155,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน นับเป็นยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีผลกำไรสุทธิจำนวน 4,208 ล้านบาท

โดยกิจการประเทศไทยของซีพีเอฟมีรายได้จากการขายจำนวน 50,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% และในส่วนของกิจการต่างประเทศ มีรายได้จากการขายจำนวน 105,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น และความต้องการบริโภคดีขึ้นจากการผ่อนคลายของมาตรการการป้องกันโควิดในประเทศต่าง ๆ และบริษัทคาดว่าครึ่งหลังของปีนี้จะยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่โดดเด่นต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

……..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว