จับตาประชุมสุดยอด สี จิ้นผิง-ปูติน แต่ละฝ่ายต้องการอะไร

  • By BBC Monitoring
  • Analysis
Russian President Vladimir Putin and his Chinese counterpart Xi Jinping enter a hall for the talks at the Kremlin in Moscow on June 5, 2019.

ที่มาของภาพ, AFP

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เดินทางออกนอกประเทศครั้งสำคัญ และมีกำหนดหารือกันในการประชุมสุดยอดในอุซเบกิสถาน ในการประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ เอสซีโอ ที่จะจัดขึ้นที่เมืองซามาร์แคนด์ ระหว่างวันที่ 15-16 ก.ย.

ผู้นำอินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน และอีกหลายประเทศ จะเข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่สื่อทั่วโลกจับตา คือการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำจีนและรัสเซ๊ย

ในการประชุมแบบต่อหน้าครั้งล่าสุดของทั้งคู่ระหว่างโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ผู้นำจีนและรัสเซียออกแถลงการณ์ร่วม ระบุว่า มิตรภาพระหว่างสองประเทศ “ไร้พรมแดน” แต่ไม่นานหลังจากนั้น รัสเซียยกทัพบุกยูเครน

แล้วมิตรภาพของสองประเทศเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน และแต่ละฝ่ายต้องการอะไรจากการประชุมนี้

สำหรับประธานาธิบดีปูติน ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับจีน ถือเป็นกุญแจสำคัญต่อวิสัยทัศน์ “โลกหลายขั้วอำนาจ” หรือการที่ประเทศอย่างรัสเซียและจีน จะมีอิทธิพลต่อประชาคมโลก เทียบเท่าหรือมากกว่าชาติตะวันตก

นโยบายนี้เป็นรากฐานสำคัญของการปกครองระบอบปูตินที่เขาพยายามผลักดันมานานหลายปีแล้ว และตอนนี้ “โลกหลายขั้วอำนาจ” ยิ่งมีความสำคัญต่อรัสเซียอย่างยิ่งยวด

เพราะหลังปูตินสั่งบุกยูเครน รัสเซียก็ถูกชาติตะวันตกโดดเดี่ยวและรุมประณาม ดังนั้น ปูตินจึงต้องการพบกับผู้นำโลกที่ต้องการทลายอิทธิพลชาติตะวันตกอย่างสี จิ้นผิง และไม่ใช่แค่เพียงการที่โลกได้เห็นภาพทั้งคู่พบกันเท่านั้น

A police officer guards the Registan square in downtown Samarkand on September 13, 2022.

ที่มาของภาพ, AFP

รัสเซียยังต้องการการลงทุนจากจีน ความร่วมมือทางเทคโนโลยี และการค้าระหว่างกันด้วย โดยเฉพาะหลังรัสเซียเผชิญการคว่ำบาตรมากมายหลายระลอกจากชาติตะวันตก ไม่นับรวมการที่บริษัทตะวันตกถอนการลงทุนออกจากรัสเซีย ปูตินจึงต้องการแทนที่การลงทุนที่หายไปด้วยการลงทุนจากจีนแทน

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงที่ชาติตะวันตกพยายามลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย รัสเซียเองก็ต้องการหันไปส่งออกสิ่งเหล่านี้ไปทางฝั่งตะวันออก ไปยังจีนแทน

รัสเซียยังต้องการการสนับสนุนอาวุธมหาศาล เพื่อผลักดันการทำสงครามในยูเครนที่กำลังหยุดชะงักในเวลานี้ อย่างไรก็ดี จีนยังระมัดระวังไม่สนับสนุนรัสเซียชัดเจนเกินไปในประเด็นสงครามยูเครน

แต่นโยบายที่พยายามเข้าหาจีนมากขึ้นของผู้นำรัสเซีย อาจกลายเป็นผลเสียได้ เพราะจริง ๆ แล้ว สองประเทศก็เป็นคู่แข่งในภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งความรู้สึกของคนรัสเซียบางส่วน มองว่าประธานาธิบดีปูตินปล่อยให้อิทธิพลของจีนเพิ่มขึ้นมากเกินไป โดยเฉพาะในพื้นที่ทางตะวันออกของรัสเซีย

Presentational grey line
Belarussian President Alexander Lukashenko, Russian President Vladimir Putin, Chinese President Xi Jinping, Iranian President Hassan Rouhani enter the hall during the SCO Summit on June 14, 2019 in Bishkek, Kyrgyzstan

ที่มาของภาพ, Getty Images

การเดินทางเยือนอุซเบกิสถานและคาซัคสถาน นาน 3 วันของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ครั้งนี้ ถือเป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรก นับแต่โควิด-19 ปะทุขึ้นทั่วโลกในปี 2020

การประชุมสุดยอดเอสซีโอครั้งนี้ ยังเกิดขึ้นไม่นาน ก่อนการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือซีซีพี ในวันที่ 16 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งคาดว่า นายสีจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 3

แม้ว่าสื่อของรัฐบาลจีนยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของการหารือระหว่างสี จิ้นผิง กับปูติน แต่ไต้หวันและสื่อฮ่องกงบางสำนักมองว่า การเข้าร่วมประชุมสุดยอดครั้งนี้ของสี เป็นการส่งสัญญาณต่อโลกว่า เขามีอำนาจควบคุมพรรคและประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ

แม้กระนั้น สำนักข่าวเซ็นทรัลนิวส์ของรัฐบาลไต้หวันเตือนว่า ผู้นำจีนอาจต้อง “ขายหน้า” จากการพบปูตินในห้วงเวลาที่กองทัพยูเครนกำลังมีแต้มต่อ หลังผลักดันทหารรัสเซียจำนวนมากออกจากพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนได้

เมื่อไม่นานมานี้ หยาง เจียฉือ นักการทูตระดับสูงของจีน ประกาศว่าจีนจะยืนหยัดกับรัสเซีย ระหว่างการประชุมร่วมกับเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำจีน ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่าง หลี่ ซานฉู่ ยังเดินทางเยือนรัสเซียเมื่อเดือน ก.ย. เพื่อกระชับมิตรด้วย โดยทั้งหยางและหลี่หวังว่าจีนและรัสเซียจะกระชับมิตรภาพให้ยิ่งแน่นแฟ้น ไปสู่ “ระดับใหม่”

สงครามในยูเครนของปูตินที่กำลังพลิกผัน ส่งผลให้นักการเมืองท้องถิ่นรัสเซียหลายสิบคนถึงกับออกมาเรียกร้องให้เขาลาออก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้การประชุมสุดยอดกับสี จิ้นผิง จะถูกจับตาอย่างใกล้ชิด

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว