มีอะไรในกฎหมายทำแท้งครรภ์ 12-20 สัปดาห์ ที่ประกาศใช้ล่าสุด  

  • ธันยพร บัวทอง
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ปี 2565 เมื่อ 26 ก.ย. ระบุว่าให้หญิงตั้งครรภ์เกิน 12-20 สัปดาห์ ตรวจและรับปรึกษาก่อนยุติการตั้งครรภ์

นับเป็นกฎหมายอีกฉบับที่กำหนดแนวปฏิบัติของการยุติการตั้งครรภ์ของสตรีไทย หลังจากมีการแก้ไขกฎหมายทำแท้งเมื่อต้นปี 2564 ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกินกว่า 12 สัปดาห์ ยุติการตั้งครรภ์ได้ ตามเงื่อนไขในกฎหมาย

นี่ไม่ใช่การออกกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ แต่ทว่า ประกาศของ สธ. ฉบับนี้ เป็นแนวปฏิบัติที่ระบุรายละเอียดของผู้หญิง ที่มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ที่ต้องการทำแท้ง

“เป็นหลักเกณฑ์ส่วนขยายของ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 มาตรา 301 และ 305” นพ. บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผอ. สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุกับบีบีซีไทย

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

ประเทศไทยอนุญาตการยุติการตั้งครรภ์ดังกล่าว เป็นไปตามการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 ในมาตรา 301 และมาตรา 305 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ. 2564 หรือกว่า 1 ปี แล้ว

โดยสรุป  กฎหมายปัจจุบัน กำหนดให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ที่ทำแท้ง ไม่ถือว่ามีความผิดทางอาญา นอกจากนี้ หญิงที่มีอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน แต่ต้องตรวจและรับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น

ผอ. สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ประกาศ สธ. ฉบับล่าสุด เป็นการลงรายละเอียดว่า “ผู้ให้คำปรึกษาทางเลือก” ในการยุติตั้งครรภ์จะเป็นใครได้บ้าง ขณะที่ “ผู้ประกอบวิชาชีพอื่น” ตามกฎหมายที่ให้คำปรึกษาหญิงที่ต้องการทำแท้ง ต้องได้รับการอบรมจากกรมอนามัย ซึ่งหลังจากนี้ได้กำหนดเวลาขึ้นทะเบียนไว้ 1 ปี

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

“ทุกวันนี้ผู้ให้คำปรึกษา (ยุติตั้งครรภ์) มีทุกประเภท แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการ แม้แต่ภาคเอกชน เอ็นจีโอ”

นายแพทย์จากกรมอนามัย บอกด้วยว่า จุดประสงค์ของประกาศ สธ. ฉบับนี้ เป็นการให้ข้อมูลกับหญิงที่เป็นคนมารับคำปรึกษาการยุติการตั้งครรภ์ ให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนตัดสินใจยุติตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์ต่อ โดยการตัดสินใจสุดท้ายเป็นของผู้หญิงที่มารับการปรึกษา

“ส่วนกรณีอายุครรภ์ยังไม่เกิน 20 สัปดาห์ แล้วแต่เหตุผลของเขาเช่นกัน ตัวกฎหมายเปิดให้การตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้มาขอรับบริการ” นพ. บุญฤทธิ์ กล่าวถึงกลไกการทำงานของหน่วยให้คำปรึกษา

สำหรับขั้นตอนการรับบริการปรึกษา นพ.บุญฤทธิ์ ยกตัวอย่าง กรณีท้องไม่พร้อมแต่ต้องการยุติตั้งครรภ์ เมื่อมาเข้ารับบริการ หน่วยบริการจะให้คำปรึกษา ถามประวัติทั่วไป มีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ ส่วนการให้คำปรึกษาจะมีการพูดคุยถึงข้อดีและข้อเสียของทั้งการตั้งครรภ์ต่อและการยุติการตั้งครรภ์

“ถ้าเลือกตั้งครรภ์ต่อจะมีระบบการดูแลช่วยเหลืออะไรบ้าง ถ้าเลือกยุติตั้งครรภ์จะมีการสนับสนุนอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเรื่องความปลอดภัย หรือมีโอกาสจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเค้าบ้าง”

กฎหมายทำแท้งไทยบอกว่าอย่างไร

การยุติการตั้งครรภ์ ตามเนื้อหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ. 2564 ระบุว่า หญิงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด หากเป็นการยุติการตั้งครรภ์โดย ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

นอกจากนี้ กฎหมายยังให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ หากจำเป็นต้องทำเพราะอาจเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจ

จำเป็นต้องทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์ อันควรเชื่อได้ว่า หากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

ส่วนหญิงที่มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่ยืนยันยุติตั้งครรภ์ หลังได้รับการตรวจและปรึกษาทางเลือก กฎหมายระบุว่า ทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด

ในส่วนของมาตรา 301 หากการทำแท้งขณะมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ไม่ได้ทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังกฎหมายเปลี่ยน สถานการณ์เป็นอย่างไร

หลังจากผ่านมากว่า 1 ปี ที่หญิงต้องท้องสามารถทำแท้งได้ หากมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ผอ.สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ ระบุว่า ตัวเลขจำนวนโดยรวมมีแนวโน้มลดลง แต่ตัวเลขนี้อาจจะเป็นสถานการณ์ที่แปลผลได้ยาก เพราะเป็นช่วงที่เกิดภาวะโรคระบาดโควิด-19 ดังนั้น จึงไม่อาจสรุปได้ว่า เป็นเพราะระบบบริการป้องกันการตั้งครรภ์ดี หรือน้อยเพราะว่ามีการเข้าถึงยายุติตั้งครรภ์ทางอินเทอร์เน็ต

แม้จะมีการปลดล็อกแล้ว แต่ นพ. บุญฤทธิ์ระบุว่า การยุติตั้งครรภ์ ไม่ได้มีโดยทั่วไปทุกโรงพยาบาล เนื่องการการยุติตั้งครรภ์ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องมาตรฐานการรักษา “แต่เป็นเรื่องทัศนคติของผู้ให้บริการ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สะดวกใจในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์”

ในแง่การเข้าถึง ปัจจุบันมีสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ให้บริการการยุติการตั้งครรภ์ใน 47 จังหวัด โดยโรงพยาบาลที่ให้บริการจะแจ้งความประสงค์มายังกรมอนามัย ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารจัดการตัวยาที่กระจายให้กับหน่วยบริการ

ช่องทางที่รัฐพยายามประชาสัมพันธ์ให้ผู้หญิงที่ต้องการยุติตั้งครรภ์ จะผ่านเครือข่ายอาสา RSA Thai หรือเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักสาธารณสุข จากทั้งรัฐและเอกชน ที่รวมตัวอาสารับและส่งต่อเพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และสายด่วน 1663

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

ทำแท้งถูกกฎหมาย แต่ไม่อยากให้เข้าถึง ?

สุไลพร ชลวิไล จากกลุ่ม “ทำทาง” ภาคประชาสังคมที่ช่วยเหลือการเข้าถึงการยุติตั้งครรภ์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า แม้เนื้อหาของประกาศ สธ. ดีกว่าร่างแรกที่เน้นกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ต่อ  แต่กฎหมายยังเขียนไว้กว้างและมีความคลุมเครือ

“ผู้หญิงจะต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกกรณีที่ต้องผ่านกระบวนการปรึกษา เพราะอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ตามกฎหมายนั้นไม่ต้องรับคำปรึกษาก่อนยุติตั้งครรภ์”

สุไลพร กล่าวว่า สถานการณ์การเข้าถึงการยุติตั้งครรภ์ปลอดภัย แม้จะเป็นช่วงก่อนหรือแก้กฎหมายแล้ว ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ที่ผู้หญิงจะไปรับบริการอย่างปลอดภัยยังแทบไม่มี เพราะว่ารัฐไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นสาธารณะกับประชาชนแต่อย่างใด แต่กลับต้องผ่านหน่วยบริการให้คำปรึกษา หรือสายด่วน ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้จัก

“เอาเข้าจริง กรมอนามัย ทุกวันนี้ ยังไม่กล้าเปิดเผยเลยว่า แหล่งบริการอยู่ที่ไหน… ประชาชนรับทราบนะว่า ตอนนี้ทำแท้งได้ แต่ว่าจะไปทำที่ไหนล่ะ ไม่ยอมบอก มันเป็นการเข้าถึงยาก คนต้องหาข้อมูลจึงต้องมาผ่านเรา”

สุไลพรมองว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าทัศนะของผู้กำหนดนโยบาย ทั้งนักกฎหมาย หน่วยงาน หรือกระทั่งแพทย์ ไม่ได้ต้องการให้กฎหมายเปิดให้มีการทำแท้งตั้งแต่ต้น ความสำคัญของประกาศฉบับนี้ จึงเป็นการสื่อสารกับหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข แต่การจะทำให้การเข้าถึงมีประสิทธิภาพนั้นอาจจะต้องเกี่ยวข้องกับข้อบังคับแพทยสภาด้วย

สิทธิการทำแท้ง หากใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ

คำถามต่อมาคือ นอกจากสถานที่การรับบริการแล้ว เราจะใช้สิทธิการรักษาพยาบาลแบบไหนในการรับบริการยุติตั้งครรภ์

คำตอบคือ ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และประกันสังคม มีงบประมาณรายหัวสำหรับการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งหลักประกันสุขภาพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งงบประมาณค่าหัวไว้ที่ 3,000 บาท แต่ไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลที่จะให้บริการยุติตั้งครรภ์

“ปัญหา คือ นโยบายแบบนี้ไม่ได้บังคับทุกโรงพยาบาล แต่เป็นไปตามความสมัครใจ และคุณก็ต้องมีความรู้อีกว่า ถ้าคุณจะใช้สิทธิอันนี้ ต้องไปให้ถูกโรงพยาบาล” สุไลพร กล่าว

นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม กล่าวว่า ภายหลังแก้กฎหมายแล้ว ข้อมูลที่เครือข่ายได้รับ พบว่ามีผู้หญิงที่ต้องการยุติตั้งครรภ์ 180 คน ที่ไปขอรับบริการแล้วไม่ได้รับบริการ จำนวนนี้เป็นสิทธิประกันสุขภาพ 102 ราย และที่เหลือเป็นสิทธิประกันสังคม และพวกเธอไม่ได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีบริการนี้

 “โรงพยาบาลทั่วประเทศของรัฐระดับอำเภอขึ้นมา ไม่รวมโรงพยาบาลสุขภาพตำบล มีประมาณ 1,000 กว่าแห่ง มีโรงพยาบาลและคลินิกเอกชนที่ให้บริการยุติตั้งครรภ์ 100 กว่าแห่ง นั่นคือกว่า 10% บางแห่งยังมีข้อจำกัดอีก เช่น ให้บริการเฉพาะวัยรุ่น บางแห่งให้บริการ เฉพาะอายุครรภ์ต่ำกว่า 10 สัปดาห์ บางแห่ง ให้บริการเฉพาะเคสข่มขืน”

ข้อมูลที่น่าตกใจของโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสุขภาพในกรุงเทพฯ ไม่มีแม้แต่แห่งเดียวที่ให้บริการยุติตั้งครรภ์ จะพิจารณาเฉพาะเป็นกรณีล่วงละเมิดทางเพศหรือข่มขืนเท่านั้น สุไลพร กล่าวว่า หากอยู่ กทม. และต้องการยุติตั้งครรภ์โดยใช้สิทธิประกันสุขภาพ ที่ ๆ ใกล้ที่สุดที่จะรับบริการได้คือ สิงห์บุรี

“เราต้องการให้กรุงเทพฯ มีหน่วยบริการ คนกรุงเทพฯ จะได้ไม่ต้องเสีย 3,000 บาท หรือไปเอกชน จากที่เราทำงานมาผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์มากที่สุดอยู่ใน กทม.” สุไลพร กล่าว

สำหรับอัตราค่าบริการยุติตั้งครรภ์ในสถานพยาบาลของเอกชน ที่ถูกกฎหมาย ข้อมูลจาก ผอ.สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ และกลุ่มทำทาง ระบุว่าอยู่ที่ 4,000-6,000 บาท ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์

……..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว