เหมือนหรือต่าง ? “ปีศาจกินศพ” ในอเมริกาที่กลายเป็นซีรีส์ กับซีอุย “แพะ” ที่สื่อสร้างภาพจำ “มนุษย์กินคน”

ซีรีส์ความยาว 10 ตอนเรื่องใหม่ของเน็ตฟลิกซ์ เรื่อง “ปีศาจ: เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์” เกี่ยวกับฆาตกรกินศพในอเมริกา เป็นที่กล่าวขานกันมากทั่วโลกตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีผู้เข้ารับชมมหาศาล รวมถึงในประเทศไทย แต่ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้านลบถึงความไม่เหมาะสม และสร้างความบอบช้ำทางจิตใจกับญาติของเหยื่อสังหาร

ซีรีส์นี้ ยังทำให้คนไทยกลับมาสนใจ “ซีอุย” ที่สังคมไทยเคยตราหน้าว่าเขาคือ “มนุษย์กินคน” และกลายเป็นละคร รวมถึงภาพยนตร์ไทย ออกฉายในต่างประเทศ ก่อนที่จะเกิดการชำระประวัติศาสตร์ ทวงความยุติธรรมให้เขาที่ตกเป็น “แพะ” แต่ชื่อของซีอุย ก็ยังชื่อที่คนไทยหวนกลับไปนึกถึงทุกครั้งที่ได้ยินเรื่อง การกินคน

ตัวละครเจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ บนเน็ตฟลิกส์ (ซ้าย) ลีอุย แซ่อึ้ง ตอนอ้าปากหาว (ขวา)

ที่มาของภาพ, Netflix / นิตยสารศิลปวัฒนธรรม

“ปีศาจกินศพ: เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์”

สำหรับซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ที่มีชื่อไทยว่า “คุยกับฆาตกร : เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์” เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของฆาตกรต่อเนื่องเลื่องชื่อคนหนึ่งของสหรัฐฯ ชื่อ เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ เขาเป็นคนผิวขาว ฆาตกรรมเด็กชายและวัยรุ่นชาย 17 คน ส่วนมากเป็นคนผิวดำและเกย์ ในช่วงปี พ.ศ. 2521 – 2534

คดีฆาตกรรมของดาห์เมอร์ สะเทือนขวัญคนอเมริกันเพราะพบหลักฐานการกินเนื้อมนุษย์ และการมีเพศสัมพันธ์กับศพ โดยศาลตัดสินว่าเขามีความผิดและลงโทษในปี 2535 ก่อนที่เขาจะถูกฆาตกรรมในเรือนจำในปี 2537

ตัวละครดาห์เมอร์ ถ่ายทอดออกมาผ่านการแสดงของ อีวาน ปีเตอร์ส ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก และถือเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของซีรีส์เรื่องนี้ โดยเน็ตฟลิกซ์เปิดเผยว่า มีผู้เข้าชมซีรีส์นี้ในช่วงสัปดาห์แรกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับแต่เริ่มบันทึกสถิติเมื่อเดือน มิ.ย. 2564

สัปดาห์เปิดตัวซีรีส์ มีผู้เข้าชมถึง 196.2 ล้านชั่วโมง และปัจจุบัน เป็นซีรีส์อันดับ 1 ของเน็ตฟลิกซ์ในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และติดอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย

เสียงวิจารณ์มากมาย

ซีรีส์นี้ เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เริ่มจาก การจัดประเภทซีรีส์ในช่วงแรกในกลุ่ม “LGBTQ” ก่อนที่ภายหลังจะถอดออกจากซีรีส์กลุ่มนี้

และเนื่องจากเหยื่อฆาตกรรมหลายคนเป็นคนผิวดำ ทำให้ชุมชนคนผิวดำแสดงความไม่พอใจอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น แรปเปอร์ บูซี แบดแอซซ์ ทวิตว่า “ในฐานะคนดำเราควรจะคว่ำบาตรซีรีส์นี้ สิ่งที่ฆาตกรคนนี้ทำกับเด็ก ๆ ของเรา มันน่าสะอิดสะเอียน”

น้องสาวของเหยื่อรายหนึ่งของดาห์เมอร์ชี้ว่า การสร้างซีรีส์ออกมาในลักษณะนี้ เป็นเรื่องที่ “น่าสะเทือนใจ และขาดความใส่ใจ”

สัปดาห์เดียวคนชมทั่วโลกเกือบ 200 ล้านชั่วโมง

ที่มาของภาพ, Netflix

ริตา อิสเบลล์ พี่สาวของ เออร์โรล ลินซีย์ วัย 19 ปี ซึ่งถูกดาห์เมอร์ฆาตกรรม และอิสเบลล์เป็นผู้ขึ้นกล่าวต่อศาลในปี 1992 เพื่อดำเนินคดีกับดาห์เมอร์ เธอเปิดเผยว่า ไม่มีใครแจ้งเธอมาก่อนว่า เรื่องราวของเธอและน้องชาย จะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์เรื่องนี้

“ตอนที่ฉันเห็นซีรีส์ มันกวนใจฉันมาก โดยเฉพาะตอนได้เห็นตัวเอง ได้เห็นชื่อตัวเองบนหน้าจอ และนักแสดงหญิง (ที่เล่นเป็นเธอ) กล่าวคำเดียวกับที่ฉันเคยกล่าวต่อศาล” เธอบอกกับอินไซด์เดอร์

อิสเบลล์ กล่าวว่า เน็ตฟลิกซ์ควรนำรายได้ส่วนหนึ่งจากซีรีส์ไปมอบให้ลูกหลานของเหยื่อ

“ถ้าซีรีส์นี้ให้ประโยชน์พวกเขาไม่ว่าทางใด มันก็จะดูไม่น่าสะเทือนใจและไม่ใส่ใจแบบนี้ แต่มันน่าเศร้าที่เน็ตฟลิกซ์ หาเงินกับโศกนาฎกรรม มันคือความโลภ”

สัปดาห์ก่อน ลูกพี่ลูกน้องของลินซีย์ คือ เอริก เพอร์รี ทวิตว่า ครอบครัวของพวกเขาไม่พอใจกับซีรีส์เรื่องนี้มาก

เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์

ที่มาของภาพ, Netflix

“มันคือการสร้างความบอบช้ำทางจิตใจซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่ออะไรกัน…ต้องมีภาพยนตร์ หนัง และสารคดี แบบนี้ออกมาอีกกี่เรื่อง” เขากล่าว

“แล้วการที่สร้างฉากลูกพี่ลูกน้องผม ร้องไห้กลางศาลต่อหน้าชายที่ทรมานและฆาตกรรมน้องสาวของเธอ มันบ้า มันบ้ามาก ๆ”

ด้าน แอนนี อี ชวอร์ตซ์ นักข่าวที่เปิดโปงถึงเรื่องราวของดาห์เมอร์เมื่อปี 1991 บอกกับอินดีเพนเดนต์ว่า ซีรีส์ของเน็ตฟลิกซ์เรื่องนี้ “เสียสละความแม่นยำด้านข้อเท็จจริง เพื่อความดรามา” และซีรีส์นี้ “บอกเล่าเรื่องราวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของคดีเลย”

ซีอุย…”แพะ” ที่กลายเป็นฆาตกรในสื่อไทย

หากพูดถึง คดีฆาตกรต่อเนื่องที่กินเนื้อคนในไทย คงหนีไม่พ้น ตำนานซีอุย หรือ ลีอุย แซ่อึ้ง ที่สังคมตราหน้าว่าเขาคือ “มนุษย์กินคน” เรื่องราวของเขาโดยสังเขป มีดังนี้

บทความโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ต.ค. 2546 ย้อนเรื่องราวคดีที่สะเทือนขวัญสังคมไทย ระหว่างปี 2497 – 2501 ที่ปิดม่านลงด้วยการที่ศาลอุทธรณ์ ตัดสินโทษประหารชีวิต ลีอุย แซ่อึ้ง ที่ถูกเรียกเพี้ยนเป็น “ซีอุย” ฐานฆาตกรรมโหดกินเนื้อมนุษย์คดีสุดท้ายเพียงคดีเดียว จาก 6 ศพ / 7 คดี ที่เป็นข่าว

BBC Thai

ที่มาของภาพ, BBC Thai

ตามบันทึกคำให้การของตำรวจ ระบุว่า ซีอุยเกิดประมาณปี 2464 ตำบลฮุนไหล เมืองซัวเถา ประเทศจีน เมื่อโตเป็นวัยรุ่น ได้ถูกเกณฑ์ไปประจำหน่วยทหาร ต่อสู้ในสงครามจีน-ญี่ปุ่น เมื่อสงครามสิ้นสุด จึงถูกเกณฑ์ไปรบกับฝ่ายเหมาเจ๋อตุง ก่อนหนีทหารเข้ามาในไทย เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2489

คำให้การวันที่ 30 ม.ค. 2501 ยืนยันว่า “มาอยู่เมืองไทยครั้งแรกที่ตำบลทับสะแก จ. ประจวบคีรีขันธ์” ทำงานรับจ้างทั่วไป อยู่ไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง แต่ข้อสันนิษฐานมัดตัว คือ เส้นทางและแหล่งพักพิงของซีอุยในช่วงเกิดคดีฆาตกรรม ตรงกับสถานที่เกิดเหตุของคดีทั้ง 7 คือ ประจวบคีรีขันธ์ 4 ดคี กรุงเทพฯ นครปฐม และระยอง แห่งละ 1 คดี

“ข้าฯ เคยทำการฆ่าคน และนำเอาหัวใจกับตับมารับประทานแล้ว 2 ราย ที่กรุงเทพฯ หนึ่งราย และที่นครปฐมหนึ่งราย” นี่คือคำให้การของซีอุย ในวันที่ 31 ม.ค. 2501

หลังจากที่ซีอุยถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2501 คดีสะเทือนขวัญของซีอุยได้ถูกบอกเล่าเป็นตำนานของฆาตกรอันโหดเหี้ยม ทุกครั้งที่เด็กมีความประพฤติไม่ดี ผู้ใหญ่มักจะขู่ด้วยคำพูดที่ว่า “เดี๋ยวให้ซีอุยมากินตับ” ทำให้ภาพของการเป็นฆาตกรโรคจิตหรือปีศาจถูกผลิตซ้ำจากผู้ใหญ่สู่เด็กในยุคนั้น

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2527 บริษัทกันตนาได้สร้างละครเรื่อง “ซีอุย” เพื่อออกอากาศผ่านสถานีกองทัพบก ช่อง 5 โดยละครเป็นการเล่าเรื่องราวของ ซีอุย แซ่อึ้ง ผ่านนักแสดงมากฝีมือ “อ๊อด” เทิดพร มโนไพบูลย์

ละครสร้างความหวาดกลัวซ้ำขึ้นอีกหลังจากที่ผู้คนเกือบจะลืมเรื่องราวของซีอุยไปแล้ว ผลกระทบเรื่องภาพลักษณ์ของซีอุยก็ยังตกมาที่นักแสดงที่รับบทบาทเป็นซีอุย โดย อ๊อด ถูกมองว่าเป็นภาพตัวแทนของซีอุย โดยทุกครั้งที่มีใครกล่าวถึงซีอุย ภาพของอ๊อดก็มักจะปรากฏขึ้นมาในฐานะฆาตกรโรคจิต

ซีอุย

ที่มาของภาพ, IMDB

วันเวลาผ่านพ้นไปและกระแสซีอุยก็เงียบลงเรื่อย ๆ จนกระทั้งเดือน ต.ค. พ.ศ. 2547 ได้มีภาพยนต์ที่กำกับโดย นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา และ บุรณี รัชไชยบุญ เรื่อง ซีอุย โดยมีการใช้คำโฆษณาประกอบโปสเตอร์ว่า “ผีหรือคน” เป็นการเน้นย้ำภาพจำของซีอุยที่มีความเหี้ยมโหดกินมนุษย์

ปิดตำนาน ทวงความยุติธรรมให้ซีอุย

ร่างของซีอุยหลังถูกประหารได้กลายเป็น “อาจารย์ใหญ่” ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิริราชเป็นเวลานานกว่า 60 ปี จนเมื่อปี 2562 เกิดกระแสการเรียกร้องบนให้นำร่างซีอุย แซ่อึ้ง ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช คืนศักดิ์ศรีให้เขา และล้างฉายา “มนุษย์กินคน”

ฟาโรห์ จักรภัทรานน ที่ระบุใน Change.org ณ วันและเวลาที่ตั้งแคมเปญว่า เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนใจเกี่ยวกับ “สิทธิมนุษยชน” และ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ให้เหตุผลต่อการล่ารายชื่อออนไลน์ว่า

“เพื่อให้สังคมไทยได้เรียนรู้จากความผิดพลาดว่า ในอดีตเคยมีชายคนหนึ่งตกเป็นจำเลยสังคม เพราะการเผยแพร่ข่าวลือที่ไม่มีพยานหลักฐานของสื่อสำนักพิมพ์ และเพื่อเป็นอีกหนึ่งย่างก้าวในการตระหนักถึงสิทธิและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งตนเอง และผู้อื่นของคนไทยทั้งปวง”

TWITTER @กล้าเปลี่ยน 7

ที่มาของภาพ, TWITTER @กล้าเปลี่ยน 7

“ตั้งแต่เด็กจนโต ไม่เคยเชื่อว่าซีอุยทำ” “ถึงจะผิดโทษควรสุดที่ความตาย…ไม่ใช่เอามาประจานหลายสิบปี” และ “แพะรับบาป” คือความเห็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญนี้

ต่อมา วันที่ 23 ก.ค. 2563 กรมราชทัณฑ์และมูลนิธิร่วมกตัญญู นำร่างของ ลีอุย หรือซีอุย จากศิริราชพยาบาลไปตั้งศพบำเพ็ญกุศล ที่วัดบางแพรกใต้ จ.นนทบุรี ก่อนฌาปนกิจ โดยไม่มีญาติของซีอุยมาเข้าร่วม แต่มีชุมชนชาวทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวนมาก มาร่วมอำลา เพราะเชื่อในความบริสุทธิ์ของซีอุยมาโดยตลอด

พิธีศพลีอุย แซ่อึ้ง ที่ไร้ญาติของเขาปรากฎกาย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นอกจากเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และสื่อมวลชนเดินทางมาร่วมพิธีแล้ว ยังมีนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งระบุว่าการจัดพิธีในวันนี้เป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับนักโทษชายซีอุย และกรณีเช่นนี้ถือเป็นครั้งแรกในเอเชีย

อดีตนักแสดงที่เคยรับบทเป็นซีอุยในละครโทรทัศน์ อย่าง เทิดพร มโนไพบูลย์ ซึ่งขณะนั้นอายุ 69 ปี ยอมรับว่า ตำนาน “มนุษย์กินคน” ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ลบล้างจากใจได้ไม่ง่าย ต้องใช้เวลา แต่ก็มีสัญญาณที่ดีที่เริ่มมีการพูดถึงการเป็น “แพะรับบาป”

เขาเล่าย้อนไปถึงช่วงที่จะต้องรับบทซีอุยว่า เป็นงานทำใจลำบาก เพราะตอนนั้นเพิ่งเข้าวงการรับบทเป็นเพียงตัวประกอบคนใช้ที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม แต่ว่าต้องรับบทตัวละครเอกตัวนี้ ตอนนั้นคิดหนักมาก เพราะหวั่นว่าจะส่งผลกระทบต่อตัวเขาอย่างไร เพราะตัวละครตัวนี้เป็นที่พูดถึงในสังคมในวงกว้าง แม้ว่าจะนำมาซึ่งภาพจำของสังคมต่อตัวเขา

เทิดพร

ที่มาของภาพ, BBC Thai

“ทางกันตนา บอกให้ผมไปตัดผม พอทุกคนดูแล้วก็ลงความเห็นกันว่า ผมนี่แหละเหมาะกับตัวละครตัวนี้ พอได้ยินแล้ว เราก็รู้สึกตกใจ ไม่อยากเล่น กลัวคนเกลียด” เขาบอกและพยายามต่อรองผู้เขียนบทให้เปลี่ยนตัวละครแต่ก็ไม่เป็นผล

ส่วนเหตุผลที่เทิดพรยอมเล่นละครเรื่องนี้เพราะเห็นว่ามีโอกาสไม่มากนักที่จะได้รับบทสำคัญแบบนี้

อดีตนักแสดงรายนี้ยอมรับว่า ในงานการแสดงถือว่าประสบความสำเร็จเพราะทำให้คนรู้สึกเกลียดและกลัว แต่ผลกระทบต่อตัวเขาก็มีเพราะกลายเป็นภาพจำต่อตัวเขาไปแล้ว

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว