สมาร์ตโฟนบอกได้ ตลอด 5 ปีข้างหน้าคุณมีความเสี่ยงเสียชีวิตแค่ไหน

รูปจอมือถือมีหัวกะโหลกแดง

ที่มาของภาพ, Getty Images

แม้อุปกรณ์ไฮเทคสำหรับตรวจวัดสภาพความแข็งแกร่งของร่างกายขณะออกกำลัง จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน แต่คนทั่วไปส่วนใหญ่ยังไม่สามารถใช้อุปกรณ์ราคาแพงเหล่านี้เข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่สำคัญ เช่นอัตราความเสี่ยงที่เขาหรือเธอจะเสียชีวิตในช่วงเวลาไม่กี่ปีข้างหน้าได้

ปัญหาดังกล่าวทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์และนักสถิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ วิทยาเขตเออร์บานา-แชมเปญในสหรัฐฯ มองหาวิธีการง่าย ๆ ที่จะใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานซึ่งคนส่วนใหญ่มีอยู่แล้ว อย่างเช่นโทรศัพท์สมาร์ตโฟน เพื่อตรวจวัดสภาพร่างกายและคาดการณ์ถึงอัตราความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในระยะสั้นได้

ผลการศึกษาเรื่องดังกล่าวที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS Digital Health ฉบับล่าสุด พบว่าหากนำสมาร์ตโฟนมาพกติดตัวไว้ขณะเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่าง ๆ ในระหว่างวัน ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินเพียง 6 นาที ซึ่งได้จากเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวในโทรศัพท์มือถือ จะสามารถทำนายได้อย่างแม่นยำว่า ผู้ใช้มีความเสี่ยงจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรตลอดช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้ามากน้อยแค่ไหน

รายงานวิจัยข้างต้นมาจากการติดตามศึกษาข้อมูลสุขภาพของชาวสหราชอาณาจักร 100,665 คน เป็นเวลานาน 15 ปี โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคนและวัยชรา บางคนได้รับมอบหมายให้สวมเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวที่ข้อมือเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ด้วย ซึ่งผลปรากฏว่ามีกลุ่มตัวอย่าง 2% ที่เสียชีวิตภายในระยะเวลา 5 ปี หลังเริ่มติดตามเก็บข้อมูล

รูปคนเดินหันหลัง

ที่มาของภาพ, Getty Images

เมื่อนำข้อมูลข้างต้นรวมทั้งข้อมูลจากเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวไปสร้างแบบจำลองด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ทำให้ทราบว่าสามารถใช้ข้อมูลจากเซนเซอร์ดังกล่าวซึ่งเหมือนกับที่มีในสมาร์ตโฟน มาทำนายอัตราความเสี่ยงเสียชีวิตได้ด้วยระดับความแม่นยำ (c-index score) ที่ 0.72 นับว่าเทียบเท่ากับความแม่นยำจากการตรวจวัดความเคลื่อนไหวทางร่างกายโดยตรง หรือการทำนายด้วยแบบทดสอบอื่น ๆ

ทีมผู้วิจัยระบุว่า โรคร้ายแรงหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจหรือโรคปอด สามารถถูกตรวจพบได้จากลักษณะและแบบแผนของความเคลื่อนไหวขณะออกกำลังกาย ตัวอย่างเช่นอาจมีการลดความเร็วขณะเดินให้ช้าลงเมื่อเริ่มหายใจไม่ทัน และกลับมาเร่งฝีเท้าเร็วขึ้นเป็นระยะในช่วงสั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยมีแผนจะทดสอบความแม่นยำของวิธีนี้กับผู้ใช้สมาร์ตโฟนในวงกว้างอีกครั้ง ซึ่งหากได้ผลดีก็จะพัฒนาไปสู่การสร้างแอปพลิเคชันตรวจสุขภาพสำหรับคนส่วนใหญ่ต่อไป

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว