
คืนวันที่ 8 พ.ย. ชาวไทยและคนในหลายพื้นที่ทั่วโลก ได้ร่วมรับชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 ในปี 2565 และครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะได้ชมปรากฏการณ์นี้อีกในปี 2568
ในประเทศไทยนั้น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าเมืองไทย ขณะเกิดคราสเต็มดวง ดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏเป็นสีแดงอิฐ มีดาวยูเรนัสปรากฏอยู่ด้านขวา
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ เผยภาพที่ถ่ายจากหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา เวลาประมาณ 18.29 น. ช่วงหัวค่ำวันที่ 8 พ.ย. ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงในปีนี้ โดยเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ดวงจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้า เวลาประมาณ 17.44 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออกตรงกับช่วงที่กำลังเกิดคราสเต็มดวง
นอกจากนี้ ยังมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลาประมาณ 18.41 น. จากนั้นเริ่มเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลก จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวงในเวลา 19.49 น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20.56 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์

ที่มาของภาพ, NARIT
บีบีซีไทย ได้รวบรวมภาพจันทรุปราคาเต็มดวง และดวงจันทร์สีเลือดจากหลายพื้นที่ทั่วโลก มาให้ได้รับชมกัน

ที่มาของภาพ, EPA

ที่มาของภาพ, EPA

ที่มาของภาพ, EPA
จันทรุปราคา (Lunar eclipse) จะเกิดขึ้นเมื่อโลกอยู่ในตำแหน่งกลางระหว่างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ทำให้ดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเข้าไปในเงาของโลก ส่วนสุริยุปราคา (Solar eclipse) จะเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เงาของดวงจันทร์ทอดยาวตกลงบนพื้นโลก
จันทรุปราคานั้นสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 แบบย่อย ได้แก่ จันทรุปราคาเต็มดวง, จันทรุปราคาบางส่วน และจันทรุปราคาเงามัว

ที่มาของภาพ, EPA

ที่มาของภาพ, EPA
- จันทรุปราคาเต็มดวง (Total lunar eclipse) เกิดขึ้นเมื่อเงาของโลกบดบังแสงอาทิตย์ที่ส่องไปยังดวงจันทร์เกือบทั้งหมด เนื่องจากเส้นผ่านศูนย์กลางของโลกใหญ่กว่าของดวงจันทร์ 4 เท่า อย่างไรก็ตาม ยังมีแสงสว่างบางส่วนที่ลอดผ่านชั้นบรรยากาศโลกไปถึงดวงจันทร์ได้ ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดการกรองแสงสีฟ้าออกไป จนเรามองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงคล้ายเลือด
- จันทรุปราคาบางส่วน (Partial lunar eclipse) เกิดขึ้นเมื่อพื้นผิวของดวงจันทร์เพียงบางส่วนเข้าไปในเงาของโลก สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าจันทรุปราคาเต็มดวง และมักเกิดขึ้นบ่อยถึงปีละสองครั้งเป็นอย่างน้อย เงาที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวของดวงจันทร์อาจปรากฏเป็นสีแดงสนิมไปจนถึงสีเทาคล้ายเถ้าถ่าน ขึ้นอยู่กับองศาของการเกิดจันทรุปราคาครั้งนั้น
- จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral lunar eclipse) เกิดจากดวงจันทร์ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามัวของโลก ซึ่งเป็นเงาที่มีความสว่างมากกว่าเงามืดและมองเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่า ยิ่งพื้นผิวของดวงจันทร์เข้าไปในเงามัวไม่มากนัก ก็จะยิ่งสังเกตเห็นได้ยาก ทำให้ไม่ค่อยมีการแจ้งถึงปรากฏการณ์นี้ให้คนทั่วไปได้ทราบ

ที่มาของภาพ, Reuters

ที่มาของภาพ, Reuters

ที่มาของภาพ, Reuters

ที่มาของภาพ, Reuters

ที่มาของภาพ, Reuters
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว